ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

เปิดตู้พระไตรปิฎก



อดิศักดิ์ ทองบุญ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 56-71

ความนำ
ตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสร้างพระไตรปิฎกพร้อมตู้ใส่พระไตรปิฎกนำไปถวายวัด เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะเชื่อว่าพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนไว้ ทรงบัญญัติไว้ ณ โอกาสต่าง ๆ ได้มีการสังคายนารวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก ฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีการศึกษา ทรงจำ ปฏิบัติตามจนได้ผล และนำออกเผยแพร่แก่ประชาชนตามที่ตนได้ศึกษามาจากพระไตรปิฎก ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็ยังเจริญดำรงมั่นคงอยู่ได้ ไม่มีศัตรูใด ๆ มาทำลายได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าทอดทิ้งพระไตรปิฎก สิ่งที่ศึกษาทรงจำและปฏิบัติตามก็จะผิดเพี้ยนเคลื่อนคลาดไปจากหลักคำสอนเดิมของพระพุทธองค์ ซึ่งส่งผลให้มีทรรศนะแตกแยกเป็นฝักฝ่ายจนแตกสามัคคี เกิดเป็นลัทธินิกายต่าง ๆ ขึ้นในที่สุด พระพุทธศาสนาก็ถึงกาลอวสานอันตรธานไป การสร้างพระไตรปิฎกจึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาต (ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง)
แต่มีวัดอยู่จำนวนไม่น้อยเก็บรักษาพระไตรปิฎกไว้อย่างหวงแหน ไม่ยอมให้เปิดตู้พระไตรปิฎกเลย โดยมีเหตุผลว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาต้องรักษาไว้อย่าให้เสียหาย หายแล้วกว่าจะมีผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าซื้อมา ถวายอีกก็คงนานปีทีเดียว หรือบางวัดอาจมีเหตุผลว่า ถึงเปิดตู้พระไตรปิฎกให้อ่านกัน ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ต้องรอให้มีผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกมาแนะนำก่อน ดังนี้เป็นต้น จึงปิดตู้พระไตรปิฎกใส่กุญแจไว้ จนบางรายกลายเป็นอาหารของปลวกไปก็มี
บัดนี้ เรามีพระไตรปิฎกภาษาไทยให้เลือกอ่านได้หลายฉบับ โดยเฉพาะฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง น่าจะแก้ปัญหาเรื่องอ่านไม่รู้เรื่องไปได้ จึงขอแนะนำให้หาอ่านฉบับนี้ ถ้าท่านมีพระไตรปิฎก(ฉบับมหา จุฬา)ไว้ในครอบครองไม่ควรปล่อยให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเลย ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านเถิด แล้วท่านจะได้ความรู้ เรื่องพระไตรปิฎกอย่างคุ้มค่าทีเดียว


คำว่าพระไตรปิฎก
เมื่อท่านเปิดตู้พระไตรปิฎกออก ภาพที่ท่านเห็นคือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาชุดหนึ่ง มีจำนวน ๔๕ เล่ม วางเรียงรายกันไปตามลำดับหมายเลขบอกเล่มที่พิมพ์ไว้บนสันปก ตั้งแต่เล่มที่ ๑ เรื่อยไปจนถึงเล่มที่ ๔๕ แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ เล่ม ที่ ๑ - ๘ เป็นหมวดที่ ๑ เรียกว่า พระวินัยปิฎก (หมวดพระวินัย) เล่มที่ ๙ - ๓๓ เป็นหมวดที่ ๒ เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร) และเล่มที่ ๓๔ - ๔๕ เป็นหมวดที่ ๓ เรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก (หมวดพระอภิธรรม) รวม ๓ หมวดนี้ แหละที่เรียกชื่อรวมว่า พระไตรปิฎก (ไตร แปลว่า ๓ ปิฎก แปลว่า ตระกร้า ในที่นี้หมายถึงหมวด)

ชื่อคัมภีร์ในพระวินัยปิฎก
พระวินัยปิฎกมี ๕ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๘ เล่ม มีชื่อ ดังนี้

พระวินัยปิฎก
เล่มที่
ชื่อคัมภีร์
เป็นพระไตรปิฎก
เล่มที่
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (ภิกขุวิภังค์) ภาค ๑
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (ภิกขุวิภังค์) ภาค ๒
พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก จูฬวรรค ภาค ๑
พระวินัยปิฎก จูฬวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก ปริวาร

ชื่อคัมภีร์ในพระสุตตันตปิฎก
พระสุตตันตปิฎก มี ๓๗ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๒๕ เล่ม มีชื่อดังนี้

พระสุตตันตปิฎก
เล่มที่
ชื่อคัมภีร์
เป็นพระไตรปิฎก
เล่มที่
 
๑. ทีฆนิกาย มี ๓ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๓ เล่ม
 
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
ทีฆนิกาย มหาวรรค
๑๐
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๑๑
 
๒. มัชฌิมนิกาย มี ๓ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๓ เล่ม
 
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๑๒
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๑๓
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๔
 
๓. สังยุตตนิกาย มี ๕ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๕ เล่ม
 
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๑๕
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๑๖
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๑๗
๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๑๘
๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
๑๙
 
๔. อังคุตตรนิกาย มี ๑๑ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๕ เล่ม
 
๑๒
อังคุตตรนิกาย เอกก - ทุก - ติกนิบาต
๒๐
๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
๒๑
๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก - ฉักกนิบาต
๒๒
๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก - อัฏฐก - นวกนิบาต
๒๓
๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก - เอกาทสกนิบาต
๒๔


พระสุตตันตปิฎก
เล่มที่
ชื่อคัมภีร์
เป็นพระไตรปิฎก
เล่มที่
 
๕. ขุททกนิกาย มี ๑๕ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๙ เล่ม
 
๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ  
  ขุททกนิกาย ธรรมบท  
  ขุททกนิกาย อุทาน
๒๕
  ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ  
  ขุททกนิกาย สุตตนิบาต  
๑๘
ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ  
  ขุททกนิกาย เปตวัตถุ
๒๖
  ขุททกนิกาย เถรคาถา  
  ขุททกนิกาย เถรีคาถา  
๑๙
ขุททกนิกาย ชาตกะ ภาค ๑
๒๗
๒๐
ขุททกนิกาย ชาตกะ ภาค ๒
๒๘
๒๑
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
๒๙
๒๒
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
๓๐
๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
๓๑
๒๔
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๓๒
๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒  
  ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๓๓
  ขุททกนิกาย จริยาปิฎก  

ชื่อคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก มี ๗ คัมภีร์ แบ่งเป็น ๑๒ เล่ม มีชื่อดังนี้

พระอภิธรรมปิฎก
เล่มที่
ชื่อคัมภีร์
เป็นพระไตรปิฎก
เล่มที่
พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี
๓๔
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์
๓๕
พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา
๓๖
  พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ  
พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ
๓๗
พระอภิธรรมปิฎก ยมก ภาค ๑
๓๘
พระอภิธรรมปิฎก ยมก ภาค ๒
๓๙
พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๑
๔๐
พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๒
๔๑
พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๓
๔๒
๑๐
พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๔
๔๓
๑๑
พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๕
๔๔
๑๒
พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๖
๔๕


เนื้อหาโดยสังเขปของพระไตรปิฎก
เนื้อหาโดยสังเขปของพระวินัยปิฎก

พระวินัยปิฎก คือประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระวินัยที่ว่าด้วยพระพุทธ-บัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และวิธีดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ (๑) หมวดวิภังค์ (๒) หมวดขันธกะ (๓) หมวดปริวาร แต่ละหมวดมีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้
๑. หมวดวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท หรือบทบัญญัติที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งเรียกว่า อาทิพรหมจริยกาสิกขา แบ่งเป็น ๒ คัมภีร์ คือ (๑) มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ (ภาค ๑ - ๒) ว่าด้วยศีลของภิกษุสงฆ์ (มี ๒๒๗ ข้อ) (๒) ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุณีสงฆ์ (มี ๓๑๑ ข้อ)
๒. หมวดขันธกะ ว่าด้วยสังฆกรรม พิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ข้อวัตรปฏิบัติ วิถีชีวิต ตลอดจนมารยาทที่ดีงาม เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า “อภิสมาจาริกาสิกขา” แบ่งเป็น ๒ คัมภีร์ คือ (๑) มหาวรรค (๒) จูฬวรรค (จุลวรรค)
มหาวรรคมี ๒ ภาค แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๐ ขันธกะ (ตอน) คือ (๑) มหาขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องสำคัญ จำนวน ๖๗ หัวข้อ (๒) อุโปสถขันธกะ ตอนว่าด้วยอุโบสถ จำนวน ๓๙ หัวข้อ (๓) วัสสูปนายิกขันธกะ ตอนว่าด้วยวันเข้าพรรษา จำนวน ๑๓ หัวข้อ (๔) ปวารณาขันธกะ ตอนว่าด้วยปวารณา จำนวน ๒๗ หัวข้อ (๕) จัมมขันธกะ ตอนว่าด้วยหนัง จำนวน ๑๓ หัวข้อ (๖) เภสัชชขันธกะ ตอนว่าด้วยยารักษาโรค จำนวน ๒๗ หัวข้อ (๗) กฐินขันธกะ ตอนว่าด้วยกฐิน จำนวน ๑๕ หัวข้อ (๘) จีวรขันธกะ ตอนว่าด้วยจีวร จำนวน ๓๒ หัวข้อ (๙) จัมเปยยขันธกะ ตอนว่าด้วยภิกษุชาวกรุงจัมปา จำนวน ๓๗ หัวข้อ (๑๐) โกสัมพิก-ขันธกะ ตอนว่าด้วยภิกษุชาวกรุงโกสัมพี จำนวน ๑๐ หัวข้อ
จูฬวรรค (จุลวรรค) มี ๒ ภาค แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๒ ขันธกะ (ตอน) คือ (๑) กัมมขันธกะ ตอนว่าด้วยนิคคหกรรม (การลงโทษ) จำนวน ๕ หัวข้อ (๒) ปาริวาสิกขันธกะ ตอนว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับปริวาส จำนวน ๕ หัวข้อ (๓) สมุจจยขันธกะ ตอนว่าด้วยประมวลวิธีการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส จำนวน ๑๑ หัวข้อ (๔) สมถขันธกะ ตอนว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์ จำนวน ๙ หัวข้อ (๕) ขุททกวัตถุขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จำนวน ๒ หัวข้อ (๖) เสนาสนขันธกะ ตอนว่าด้วยเสนาสนะ จำนวน ๒๗ หัวข้อ (๗) สังฆเภทขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องสงฆ์แตกกัน จำนวน ๑๒ หัวข้อ (๘) วัตตักขันธกะ ตอนว่าด้วยวัตร จำนวน ๑๕ หัวข้อ (๙) ปาติโมกขัฎฐปนขันธกะ ตอนว่าด้วยการงดพระปาติโมกข์ จำนวน ๑๑ หัวข้อ (๑๐) ภิกขุนีขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องของภิกษุณี จำนวน ๓ หัวข้อ (๑๑) ปัญจสติกขันธกะ ตอนว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ทำสังคายนา จำนวน ๔ หัวข้อ (๑๒) สัตตสติกขันธกะ ตอนว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ทำสังคายนา ตั้งหัวข้อเป็นภาณวาร จำนวน ๒ ภาณวาร
๓. หมวดปริวาร ว่าด้วยข้อสรุปพระวินัยปิฎกทั้งหมดเป็นแบบถาม - ตอบ ได้แก่ คัมภีร์ปริวาร ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระวินัยปิฎก จัดเป็นคัมภีร์ประกอบหรือคู่มือศึกษาพระวินัยตั้งแต่เล่มที่ ๑ - ๗ มีเนื้อหาสำคัญจำนวน ๒๑ หัวข้อ

เนื้อหาโดยสังเขปของพระสุตตันตปิฎก
พระสุตตันตปิฎก คือประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยพระธรรมเทศนาหรือธรรมบรรยายต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะสมกับบุคคล เหตุการณ์ และโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในรูปแบบหรือองค์ต่าง ๆ (มี ๙ องค์ ที่เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” เช่น สุตตะ เคยยะ) รวมถึงพระธรรมเทศนาหรือธรรมบรรยายของพระสาวกพระสาวิกาที่กล่าวตามแนวพระพุทธพจน์ในบริบทต่าง ๆ ด้วย
พระสุตตันตปิฎกแบ่งออกเป็น ๕ หมวด เรียกว่า นิกาย คือ (๑) ทีฆนิกาย (หมวดยาว) (๒) มัชฌิมนิกาย (หมวดปานกลาง) (๓) สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเนื้อหา) (๔) อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์) (๕) ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย) การจัดแบ่งพระสูตรเป็น ๕ นิกายนี้ ถ้าพิจารณาเนื้อหาโดยรวมของแต่ละนิกาย จะพบว่าท่านอาศัยหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. แบ่งตามความยาวของพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรที่มีความยาวมากไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ทีฆนิกาย รวบรวมพระสูตรที่มีความยาวปานกลางไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย ส่วนพระสูตรที่มีขนาดความยาวน้อยกว่านั้น แยกไปจัดแบ่งไว้ในหมวดอื่นและด้วยวิธีอื่นดังจะกล่าวในข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ตามลำดับ
๒. แบ่งตามเนื้อหาสาระของพระสูตร คือประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระประเภทเดียวกัน จัดไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเนื้อหาสาระ) เช่นประมวลเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากัสสปเถระเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า กัสสปสังยุต
๓. แบ่งตามลำดับจำนวนองค์ธรรมหรือหัวข้อธรรม คือรวบรวมพระสูตรที่มีหัวข้อธรรมเท่ากันเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์) และมีชื่อกำกับหมวดย่อยว่า นิบาต มี ๑๑ นิบาต คือหมวดพระสูตรที่มีหัวข้อธรรม ๑ ข้อ เรียกว่า เอกกนิบาต ที่มี ๒ ข้อ เรียกว่า ทุกนิบาต ที่มี ๓ ข้อ เรียกว่าติกนิบาต ที่มี ๔ ข้อ เรียกว่า จตุกกนิบาต ที่มี ๕ ข้อ เรียกว่า ปัญจกนิบาต ที่มี ๖ ข้อ เรียกว่า ฉักกนิบาต ที่มี ๗ ข้อ เรียกว่า สัตตกนิบาต ที่มี ๘ ข้อ เรียกว่า อัฏฐกนิบาต ที่มี ๙ ข้อ เรียกว่า นวกนิบาต ที่มี ๑๐ ข้อ เรียกว่า ทสกนิบาต และที่มี ๑๑ ข้อ เรียกว่า เอกาทสกนิบาต
๔.จัดแยกพระสูตรที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้นไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย) แบ่งตามหัวข้อใหญ่เป็น ๑๕ เรื่อง คือ (๑) ขุททกปาฐะ (๒) ธัมมปทะ (ธรรมบท) (๓) อุทาน (๔) อิติวุตตกะ (๕) สุตตนิบาต (๖) วิมานวัตถุ (๗) เปตวัตถุ (๘) เถรคาถา (๙) เถรีคาถา (๑๐) ชาตกะ (๑๑) นิทเทส (มหานิทเทสและจูฬนิทเทส) (๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค (๑๓) อปทาน (๑๔) พุทธวังสะ (พุทธวงศ์) (๑๕) จริยาปิฎก นอกจากนี้ท่านยังจัดพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกเข้าไว้ในขุททกนิกายนี้ด้วย
๑. เนื้อหาโดยสังเขปของทีฆนิกาย
ทีฆนิกาย มีพระสูตรขนาดยาวจำนวน ๓๔ สูตร แบ่งเป็น ๓ วรรค (ตอน) คือ (๑) สีลขันธวรรค (๒) มหาวรรค (๓) ปาฏิกวรรค
สีลขันธวรรค ว่าด้วยศีล และทิฏฐิ (ลัทธิ) มีจำนวน ๑๓ สูตร
มหาวรรค ว่าด้วยเรื่องสำคัญมาก เช่น เรื่องพระประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต ๖ พระองค์ มีพระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นต้น และพระประวัติของพระองค์เอง เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องมหาปรินิพพาน มีจำนวน ๑๐ สูตร
ปาฏิกวรรค ว่าด้วยเรื่องนักบวชนอกพระพุทธศาสนา มีนักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตร เป็นต้น เรื่องจักรวรรดิวัตร เรื่องมูลกำเนิดของโลก เรื่องมหาปุริสลักษณะ (ลักษณะมหาบุรุษ) เรื่องการสังคายนาพระธรรมวินัย เป็นต้น มีจำนวน ๑๑ สูตร
๒. เนื้อหาโดยสังเขปของมัชฌิมนิกาย
มัชฌิมนิกาย มีพระสูตรขนาดปานกลาง จำนวน ๑๕๒ สูตร แบ่งเป็น ๓ ปัณณาสก์ (หมวดละ ๕๐ สูตร) คือ (๑) มูลปัณณาสก (ปัณณาสก์ต้น) (๒) มัชฌิมปัณณาสก์ (ปัณณาสก์กลาง) (๓) อุปริปัณณาสก์ (ปัณณาสก์ปลาย) แต่ละปัณณาสก์ แบ่งย่อยเป็นวรรค (หมวดหรือตอน) ได้ ๕ วรรค วรรคละ ๑๐ สูตร ยกเว้นวิภังควรรคของอุปริปัณณาสก์ ซึ่งท่านเพิ่มให้เป็น ๑๒ สูตร ดังนี้
มูลปัณณาสก์ มี ๕ วรรค คือ (๑) มูลปริยายวรรค ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมซึ่งปรากฏในมูลปริยายสูตร เป็นต้น (๒) สีหนาทวรรค ว่าด้วยการบันลือสีหนาท ดังปรากฏในจูฬสีหนาทสูตร มหาสีหนาทสูตร เป็นต้น (๓) โอปัมมวรรค ว่าด้วยข้ออุปมา เช่นอุปมาด้วยเลื่อย อุปมาด้วยอรสรพิษ ดังปรากฏในกกจูปมสูตร อลคัททูปมสูตร เป็นต้น (๔) มหายมกวรรค ว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่ เช่นเหตุการณ์ในโคสิงคสาลวัน ๒ เหตุการณ์ ดังปรากฏในจูฬโคสิงคสูตร และมหาโคสิงคสูตร เป็นต้น (๕) จูฬยมกวรรค ว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก เช่น การสันทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญาของบุคคล ๒ คู่ ดังปรากฏในมหาเวทัลลสูตร จูฬเวทัลลสูตร
มัชฌิมปัณณาสก์ มี ๕ วรรค คือ (๑) คหปติวรรค ว่าด้วยคหบดี (๒) ภิกขุวรรค ว่าด้วยภิกษุ (๓) ปริพพาชกวรรค ว่าด้วยปริพาชก (๔) ราชวรรค ว่าด้วยพระราชา (๕) พราหมณวรรค ว่าด้วยพราหมณ์อุปริปัณณาสก์ มี ๕ วรรค คือ (๑) เทวทหวรรค ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่เทวทหนิคม เป็นต้น ดังปรากฏในเทวทหสูตร (๒) อนุปทวรรค ว่าด้วยธรรมตามลำดับบท เป็นต้น ดังปรากฏในอนุปทสูตร (๓) สุญญตวรรค ว่าด้วยสุญญตา เป็นต้น ดังปรากฏในจูฬสุญญตสูตร และมหาสุญญตสูตร (๔) วิภังควรรค ว่าด้วยการจำแนกธรรม (๕) สฬายตนวรรค ว่าด้วยอายตนะ ๖
๓. เนื้อหาโดยสังเขปของสังยุตตนิกาย
สังยุตตนิกาย มีพระสูตรที่ปรากฏจำนวน ๒,๗๕๒ สูตร (อรรถกถาพระวินัยว่ามี ๗,๗๖๒ สูตร : วิ.อ. ๑/๑๗) แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม ตามเนื้อหาสาระหรือรูปแบบที่เข้ากันได้กลุ่มละ ๑ วรรค คือ
๑. สคาถวรรค คือกลุ่มพระสูตรที่มีรูปแบบเป็นคาถาประพันธ์ มีจำนวน ๒๗๑ สูตร จัดเป็นสังยุต (ประมวลเนื้อหาเป็นเรื่อง ๆ) ได้ ๑๑ สังยุต
๒. นิทานวรรค คือกลุ่มพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับต้นเหตุแห่งการเกิดและการดับแห่งทุกข์ มีจำนวน ๓๓๗ สูตร จัดเป็นสังยุตได้ ๑๐ สังยุต
๓. ขันธวารวรรค คือกลุ่มพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับขันธ์ ๕ มีจำนวน ๗๑๖ สูตร จัดเป็นสังยุตได้ ๑๓ สังยุต
๔. สฬายตนวรรค คือกลุ่มพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับอายตนะ ๖ มีจำนวน ๔๒๐ สูตร จัดเป็นสังยุตได้ ๑๐ สังยุต
๕. มหาวารวรรค คือกลุ่มพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับธรรมหมวดใหญ่ ได้แก่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ และหมวดธรรมที่เกี่ยวข้อง มีจำนวน ๑,๐๐๘ สูตร จัดเป็นสังยุตได้ ๑๒ สังยุต
๔. เนื้อหาโดยสังเขปของอังคุตตรนิกาย
อังคุตตรนิกายมีพระสูตรตามที่ปรากฏจำนวน ๗,๙๐๒ สูตร (อรรถกถาพระวินัยว่ามี ๙,๕๕๗ สูตร : วิ.อ. ๑/๒๕) แบ่งเป็น ๑๑ นิบาต (หมวดย่อย) ดังนี้
๑. เอกกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๑ ประการ มี ๖๑๙ สูตร แบ่งเป็น ๒๐ วรรค
๒. ทุกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๒ ประการ มี ๗๕๐ สูตร แบ่งเป็น ๓ ปัณณาสก์ ๑๕ วรรค กับ ๔ หัวข้อเปยยาล (หมวดธรรมที่แสดงไว้โดยย่อ)
๓. ติกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๓ ประการ มี ๓๕๓ สูตร แบ่งเป็น ๓ ปัณณาสก์ ๑๖ วรรค กับ ๒ หัวข้อเปยยาล
๔. จตุกกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๔ ประการ มี ๗๘๒ สูตร แบ่งเป็น ๕ ปัณณาสก์ ๒๗ วรรค กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๕. ปัญจกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๕ ประการ มี ๑,๑๕๒ สูตร แบ่งเป็น ๕ ปัณณาสก์ ๒๖ วรรค กับ ๓ หัวข้อเปยยาล
๖. ฉักกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๖ ประการ มี ๖๔๙ สูตร แบ่งเป็น ๒ ปัณณาสก์ ๑๒ วรรค กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๗. สัตตกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๗ ประการ มี ๑,๑๓๒ สูตร แบ่งเป็น ๑ ปัณณาสก์ ๕ วรรค และอีก ๕ วรรค (ไม่จัดเป็นปัณณาสก์) กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๘. อักฐกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๘ ประการ มี ๖๒๖ สูตร แบ่งเป็น ๒ ปัณณาสก์ ๑๐ วรรค กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๙. นวกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๙ ประการ มี ๔๓๒ สูตร แบ่งเป็น ๒ ปัณณาสก์ ๙ วรรค กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๑๐. ทสกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๑๐ ประการ มี ๗๔๖ สูตร แบ่งเป็น ๕ ปัณณาสก์ ๒๒ วรรค กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๑๑. เอกาทสกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๑๑ ประการ มี ๖๗๑ สูตร แบ่งเป็นวรรคได้ ๓ วรรค กับ ๑ หัวข้อเปยยาล
๕. เนื้อหาโดยสังเขปของขุททกนิกาย
ขุททกนิกายมีหัวข้อธรรมจำนวน ๑๕ เรื่อง ๑๕ คัมภีร์ แต่ละคัมภีร์มีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้
๑. ขุททกปาฐะ ว่าด้วยบทสวดสั้น ๆ จำนวน ๙ บท ๙ สูตร เช่น สรณคมน์ มงคลสูตร รัตนสูตร
๒. ธัมมปทะ (ธรรมบท) ว่าด้วยธรรมภาษิตสั้น ๆ จำนวน ๔๒๓ บท ๔๒๗ คาถา ๓๐๕ เรื่อง แบ่งเป็นวรรคได้ ๒๖ วรรค
๓. อุทาน ว่าด้วยพระพุทธพจน์ที่ทรงเปล่งออกมาด้วยกำลังปีติโสมนัส มี ๘๐ สูตร ๙๕ คาถา แบ่งเป็นวรรคได้ ๘ วรรค
๔. อิติวุตตกะ ว่าด้วยพระพุทธพจน์ที่ยกมาอ้างอิง จำนวน ๑๑๒ สูตร แบ่งเป็นนิบาตได้ ๔ นิบาต ดังนี้
๔.๑ เอกกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๑ ประการ มี ๒๗ สูตร แบ่งเป็น ๓ วรรค
๔.๒ ทุกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๒ ประการ มี ๑๒ สูตร ไม่แบ่งเป็นวรรค
๔.๓ ติกนิบาต หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยหัวข้อธรรม สูตรละ ๓ ประการ มี ๕๐ สูตร แบ่งเป็น ๕ วรรค
๕. สุตตนิบาต ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหาเป็นประเภทร้อยกรอง (คาถา) และบางส่วนเป็นประเภทร้อยกรองผสมร้อยแก้ว (เคยยะ) มี ๗๐ สูตร ๑,๑๕๖ คาถา แบ่งเป็นวรรคได้ ๕ วรรค
๖. วิมานวัตถ ว่าด้วยเรื่องหรือประวัติของผู้เกิดในวิมาน คือเทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลาย มี ๘๕ เรื่อง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ อิตถีวิมาน (วิมานของเทพธิดา) และปุริสวิมาน (วิมานของเทพบุตร) อิตถีวิมานแบ่งเป็นวรรคได้ ๔ วรรค ปุริสวิมานแบ่งเป็นวรรคได้ ๓ วรรค
๗. เปตวัตถุ ว่าด้วยเรื่องหรือประวัติของเปรต มี ๕๑ เรื่อง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เปตวัตถุ (เรื่องของเปรตผู้ชาย) และเปติวัตถุ (เรื่องของเปรตผู้หญิง) ทั้ง ๒ ประเภทแบ่งเป็นวรรคได้ ๔ วรรค โดยไม่ได้แยกออกจากกัน
๘. เถรคาถา ว่าด้วยคาถาหรือคำภาษิตของพระเถระจำนวน ๒๖๔ รูป ๒๖๔ เรื่อง ๑,๓๖๐ คาถา แบ่งเป็นนิบาตได้ ๒๑ นิบาต จัดเรียงตามลำดับนิบาตที่มีคาถาน้อยไปหานิบาตที่มีคาถามาก
๙. เถรีคาถา ว่าด้วยคาถาหรือคำภาษิตของพระเถรีจำนวน ๗๓ รูป ๗๓ เรื่อง ๕๒๖ คาถา แบ่งเป็นนิบาตได้ ๑๖ นิบาต
๑๐. ชาตกะ (ชาดก) ว่าด้วยพระประวัติในอดีตของพระผู้มีพระภาคในรูปแบบของคาถาประพันธ์ล้วน มี ๕๔๗ เรื่อง แบ่งเป็น ๒ ภาค ภาค ๑ มี ๕๒๕ เรื่อง แบ่งเป็นนิบาตได้ ๑๗ นิบาต ภาค ๒ มี ๒๒ เรื่อง แบ่งเป็นนิบาตได้ ๕ นิบาต (นับต่อจากนิบาตที่ ๑๗ ในภาค ๑ เป็นนิบาตที่ ๑๘ - ๒๒)
๑๑. นิทเทส ว่าด้วยการอธิบายขยายความพระพุทธวจนะย่อในรูปคาถาให้มีความหมายกว้างขวางดุจมหาสมุทรและมหาปฐพี แบ่งออกเป็น ๒ คัมภีร์ คือ มหานิทเทส (นิทเทสใหญ่) และจูฬนิทเทส (นิทเทสน้อย) เป็นผลงานของท่านพระสารีบุตร มหานิทเทสอธิบายพระพุทธวจนะในพระสูตร ๑๖ สูตร ที่ปรากฏในอัฏฐกวรรค (หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยการไม่ติดอยู่ในกาม) แห่งสุตตนิบาต (คัมภีร์ที่ ๕ ของขุททกนิกาย) มีกามสูตร เป็นต้น ส่วนจูฬนิทเทสอธิบายปัญหาของมาณพ (ศิษย์ของพราหมณ์พาวรี) ๑๖ คน ที่ปรากฏในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาตเช่นเดียวกัน
๑๒. ปฏิสัมภิทามรรค ว่าด้วยการอธิบายขยายความพระพุทธวจนะที่เกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา อย่างกว้างขวางยิ่ง เพื่อให้เกิดความรู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ คือ (๑) อรรถปฏิสัมภิทา (ความรู้แตกฉานในอรรถ) (๒) ธรรมปฏิสัมภิทา (ความรู้แตกฉานในธรรม) (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา (ความรู้แตกฉานในนิรุกติหรือภาษา) (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ความรู้แตกฉานในปฏิภาณ) มี ๓๐ เรื่อง เรียกว่า กถา แบ่งเป็น ๓ วรรค เป็นผลงานของท่านพระสารีบุตร
๑๓. อปทาน ว่าด้วยอัตชีวประวัติของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระเถระและพระเถรี รวม ๖๔๓ เรื่อง แบ่งเป็น ๒ ภาค ภาค ๑ ประกอบด้วยพุทธาปทาน ๑ เรื่อง ปัจเจกพุทธาปทาน ๔๑ เรื่อง และเถราปทาน (ตอนต้น) ๔๑๐ เรื่อง ภาค ๒ ประกอบด้วยเถราปทาน (ตอนปลาย) ๑๕๑ เรื่อง และเถริยาปทาน ๔๐ เรื่อง
๑๔. พุทธวงศ ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกรพุทธเจ้าจนถึงพระกัสสปพุทธเจ้า และพระประวัติของพระพุทธเจ้าของเรา คือพระโคตมพุทธเจ้า ทรงเน้นว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์นี้
๑๕. จริยาปิฎก ว่าด้วยพุทธจริยาสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระองค์ มี ๓๕ เรื่อง ใน ๓๕ ชาติ แบ่งเป็นวรรคได้ ๓ วรรค

เนื้อหาโดยสังเขปของพระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก คือประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรมที่ว่าด้วยปรมัตถธรรมหรือปรมัตถสัจ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน รวมทั้งปุคคลบัญญัติซึ่งเป็นสมมติสัจ โดยประมวลเป็นหลักวิชาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ คือ (๑) ธัมมสังคณี (๒) วิภังค์ (๓) ธาตุกถา (๔) ปุคคลบัญญัติ (๕) กถาวัตถุ (๖) ยมก (๗) ปัฏฐาน แต่ละคัมภีร์มีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้
๑. ธัมมสังคณี (บางแห่งใช้สั้น ๆ ว่า สังคณี ก็มี) ว่าด้วยการจัดสรรสภาวธรรมเข้าเป็นหมวดแม่บท เรียกว่า มาติกา แล้วนำไปจำแนกโดยพิสดารพอสมควร สภาวธรรมแม่บท หรือมาติกา นั้นมี ๓ นัย ๒ นัยแรกจัดสรรตามนัยพระอภิธรรม นัยที่ ๓ จัดสรรตามนัยพระสูตร (เรียกว่า สุตตันติกทุกมาติกา)
มาติกาตามนัยพระอภิธรรมนัยที่ ๑ เรียกว่า ติกมาติกา คือหมวดสภาวธรรมแม่บทหมวดละ ๓ บท มี ๒๒ หมวด จำนวน ๖๖ บท เช่น บทที่ ๑ สภาวธรรมที่เป็นกุศล (กุสลา ธมฺมา) บทที่ ๒ สภาวธรรมที่เป็นอกุศล (อกุสลา ธมฺมา) และบทที่ ๓ สภาวธรรมที่เป็นอัพยากฤต (อพฺยากตา ธมฺมา) ทั้ง ๓ บทนี้รวมเป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า หมวดกุสลติกะ
มาติกาตามนัยพระอภิธรรมนัยที่ ๒ เรียกว่า ทุกมาติกา คือหมวดสภาวธรรมแม่บทหมวดละ ๒ บท มี ๑๐๐ หมวด ๒๐๐ บท เช่น บทที่ ๑ สภาวธรรมที่เป็นเหตุ (เหตูธมฺมา) และบทที่ ๒ สภาวธรรมที่ไม่เป็นเหตุ (น เหตู ธมฺมา) รวม ๒ บท เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า หมวดเหตุทุกะ
สุตตันติกทุกมาติกา คือการนำหมวดสภาวธรรมแม่บทที่เป็นทุกมาติกาจำนวน ๔๒ หมวดไปแสดงตามนัยพระสูตร เช่น วิชชาภาคีทุกะ คือหมวดที่ว่าด้วยธรรมที่มีส่วนแห่งวิชชา (วิชฺชาภาคิโน ธมฺมา) และธรรมที่มีส่วนแห่งอวิชชา (อวิชชาภาคิโน ธมฺมา)
การจำแนกมาติกาดังกล่าวแบ่งเป็น ๔ กัณฑ์ (ตอน) คือ (๑) จิตตุปปาทกัณฑ์ ตอนที่แสดงเรื่องจิตและเจตสิก (๒) รูปกัณฑ์ ตอนที่แสดงเรื่องรูป (๓) นิกเขปกัณฑ์ ตอนที่แสดงทั้งติกมาติกาและทุกมาติการวมกันด้วยวิธีการที่ไม่ย่อและไม่ละเอียดเกินไป (๔) อัฏฐกถากัณฑ์ ตอนที่แสดงเพื่อเก็บองค์ธรรมของมาติกา ตามนัยพระอภิธรรมทั้ง ๒ นัย
๒. วิภังค์ ว่าด้วยการจำแนกมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี ทั้งติกมาติกา ๒๒ หมวดและทุกมาติกา ๑๐๐ หมวด โดยพิสดาร แบ่งเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น (๑) ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์ (๒) อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ (๓) ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ (๔) สัจจวิภังค์ จำแนกสัจจะ (๕) อินทริยวิภังค์ จำแนกอินทรีย์ (๖) ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ จำแนกปฏิจจสมุปบาท (๗) สติปัฏฐานวิภังค์ จำแนกสติปัฏฐาน
๓. ธาตุกถา ว่าด้วยคำอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ โดยนำมาติกาของคัมภีร์นี้จำนวน ๑๐๕ บท และมาติกาจากคัมภีร์ธัมมสังคณีจำนวน ๒๖๖ บท (ติกมาติกา ๖๖ บท ของ ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๒๐๐ บท ของ ๑๐๐ หมวด) มาแสดงด้วยนัยต่าง ๆ (จำนวน ๑๔ นัย) เพื่อหาคำตอบว่าสภาวธรรมบทนั้น ๆ สงเคราะห์เข้าได้กับขันธ์เท่าไร เข้าได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าได้กับธาตุเท่าไร เข้าไม่ได้กับขันธ์เท่าไร เข้าไม่ได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าไม่ได้กับธาตุเท่าไร
๔. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยการบัญญัติ (การประกาศ แสดง หรือชี้แจง) ในเรื่อง ๖ เรื่อง คือ (๑) ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรื่องขันธ์ (๒) อายตนบัญญัติ การบัญญัติเรื่องอายตนะ (๓) ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรื่องธาตุ (๔) สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรื่องสัจจะ (๕) อินทริยบัญญัติ การบัญญัติเรื่องอินทรีย์ (บัญญัติทั้ง ๕ เรื่องนี้เป็นปรมัตถสัจ ท่านแสดงไว้เฉพาะในภาคอุทเทสเท่านั้น ไม่นำไปจำแนกรายละเอียดในภาคนิทเทส) (๖) ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรื่องบุคคล ซึ่งเป็นสมมติสัจ ท่านแสดงไว้ทั้งในภาคอุทเทสและภาคนิทเทส
๕. กถาวัตถ ว่าด้วยการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่า วาทกถา (คำแสดงลัทธิ) ของฝ่ายปรวาที (พวกภิกษุในนิกายที่แตกไปจากเถรวาท ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จำนวน ๒๒๖ กถา ล้วนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจาก พระพุทธพจน์ดั้งเดิมที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทยึดถือปฏิบัติอยู่ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็นพุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และมีในที่นี้เท่านั้น ๖. ยมก ว่าด้วยการปุจฉา - วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วยวิธีการ ยมก คือการถาม - ตอบ เป็นคู่ ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะของคัมภีร์ยมก สภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่ (๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็นเหตุ) (๒) หมวดขันธ์ (๓) หมวดอายตนะ (๔) หมวดธาตุ (๕) หมวดสัจจะ (๖) หมวดสังขาร (๗) หมวดอนุสัย (๘) หมวดจิต (๙) หมวดสภาวธรรมในกุสลติกะ เรียกสั้น ๆ ว่าหมวดธรรม (๑๐) หมวดอินทรีย์ สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ ทำให้แบ่งเนื้อหาของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรมที่เป็นเนื้อหา คือ (๑) มูลยมก (๒) ขันธยมก (๓) อายตนยมก (๔) ธาตุยมก (๕) สัจจยมก (๖) สังขารยมก (๗) อนุสยยมก (๘) จิตตยมก (๙) ธัมมยมก (๑๐) อินทริยยมก แบ่งออกเป็น ๒ ภาค ภาค ๑ ว่าด้วย ยมกที่ ๑ - ๗ ภาค ๒ ว่าด้วยยมกที่ ๘ - ๑๐ วิธีการยมก ซึ่งเป็นการถาม - ตอบ เป็นคู่ ๆ นั้น ประกอบด้วยการถาม - ตอบ ๒ แบบ คือ (๑) อนุโลมปุจฉา(ถามตามลำดับ) และวิสัชนา (๒) ปฏิโลมปุจฉา (ถามย้อนกลับ) และวิสัชนา เช่นอนุโลมปุจฉา : สภาวธรรมเหล่าใดเป็นกุศล สภาวธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลมูลใช่ไหม วิสัชนา : กุศลมูลมี ๓ อย่างเท่านั้น (คือ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ) สภาวธรรมที่เหลือ (เช่น ผัสสะ) เป็นกุศล แต่ไม่เป็นกุศล มูล ปฏิโลมปุจฉา : สภาวธรรมเหล่าใดเป็นกุศลมูล สภาวธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลใช่ไหม วิสัชนา : ใช่ ๗. ปัฏฐาน ว่าด้วยการจำแนกสภาวธรรมแม่บทหรือมาติกา ทั้ง ๑๒๒ หมวด ๒๖๖ บท ของคัมภีร์ธัมมสังคณี ด้วยปัจจัย ๒๔ ชนิด มีเหตุปัจจัย เป็นต้น ตามวิธีการของปัฏฐานโดยเฉพาะ (ประกอบด้วยนัยและวาระต่าง ๆ มีรายละเอียดมาก) เพื่อแสดงความเป็นปัจจัยอาศัยกันของมาติกาแต่ละบท ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปัจจัยแต่ละชนิด เนื้อหาของปัฏฐานแบ่งออกเป็น ๒๔ ปัฏฐาน แบ่งเป็นภาคได้ ๖ ภาค (ภาคละ ๑ เล่ม) ดังนี้ ภาคที่ ๑ ว่าด้วยอารัมภกถาและปัฏฐานที่ ๑ (ตอนต้น) ภาคที่ ๒ ว่าด้วยปัฏฐานที่ ๑ (ตอนปลาย) ภาคที่ ๓ - ๔ ว่าด้วยปัฏฐานที่ ๒ ภาคที่ ๕ ว่าด้วย ปัฏฐานที่ ๓ - ๖ และภาคที่ ๖ ว่าด้วยปัฏฐานที่ ๗ - ๒๔ (ดูรายละเอียดในบทนำของพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๐) ความส่งท้าย เนื้อหาโดยสังเขปของพระไตรปิฎกที่แนะนำมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงความรู้เบื้องต้นก่อนเปิดอ่านในเล่มแต่ละปิฎก ถ้าท่านมีพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอยู่ข้างหน้าท่าน ขอให้เปิดอ่านบทนำของแต่ละเล่ม แต่ละปิฎก ก็จะได้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎกกว้างขวางกว่าที่แนะนำมาแล้วอีกมาก อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่อยู่ในมือของท่านขณะนี้ยังมีบทความอื่น ๆ แนะนำความรู้ในส่วนลึกและรายละเอียดของแต่ละเล่มแต่ละปิฎกอีกหลายเรื่อง ขอเชิญเปิดไปอ่านให้ทั่วถ้วนเถิด แล้วท่านจะได้ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกกว้างขวางยิ่งขึ้นก่อนจะเปิดอ่านพระไตรปิฎกแต่ละเล่มต่อไป กล่าวโดยสรุป พระพุทธพจน์ทั้งหมด ท่านจัดแบ่งเป็นปิฎกไว้ ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก จัดแบ่งเป็นองค์ไว้ ๙ องค์ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ และจัดแบ่งเป็นธรรมขันธ์ไว้ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องศึกษาพระไตรปิฎกให้เข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และธำรงรักษาพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้ไว้ให้ยืนนานสืบไป ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้ ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน

top