หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
นาลันทากับภารกิจทางวิชาการ
 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๓๕ - ๓๖





มหาวิทยาลัยมาจากการรวมกลุ่มของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อการเรียนรู้และความเจริญงอกงามทางวิชาการ จุดมุ่งหมายและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมีขอบข่ายอยู่ ๓ ประการ คือ :-
๑. มุ่งบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษา และถ่ายทอดความรู้เพื่อสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ
๒. ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง วิชาการชั้นสูง ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อมนุษยชาต
๓. ทะนุบำรุงและส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม๑




     
นาลันทา ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก มหาวิทยาลัยแห่งแรกของตะวันตก เกิดขึ้นที่โบโลนย่า (Bologna) และที่ปารีส (Paris) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๕๐ คือหลังจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ราว ๖ ศตวรรษ๒ ในบรรดาระบบการศึกษาในโลกนี้ ระบบการศึกษาของพราหมณ์ถือว่าเก่าแก่ที่สุดคือตั้งแต่สมัยพระเวทลงมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือเป็นระบบการศึกษาแบบครัวเรือน บ้านของอาจารย์นั่นเองเป็นโรงเรียน จึงสอนได้ในวงจำกัด ศิษย์ไปสมัครเรียนและรับใช้อาจารย์อยู่ที่บ้าน แต่การศึกษาในพระพุทธศาสนาเป็นระบบที่จัดขึ้นในวัด คือ การบวชนั่นแหละ เป็นการศึกษาอยู่ในตัว เช่นภิกษุใหม่ต้องถือนิสัยในสำนักอุปัชฌาย์ อย่างน้อย ๕ ปี อาจารย์กับศิษย์มีความสนิทสนมใกล้ชิดกัน อย่างบิดากับบุตร ศิษย์มีความเคารพครูบาอาจารย์อย่างดี มีระเบียบวินัย ด้วยอาศัยระบบอันเตวาสิก ภิกษุที่มาจากวรรณะต่างๆ มีความรู้วิชาแขนงต่างๆ นอกจากสอนคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังสอนวิชาแขนงอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกด้วย เพื่อให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างไม่ปิดบังอำพราง๓ ดังศาสตาจารย์ มูเกอร์ชิ(MOOKERJI) กล่าวว่า ระบบการศึกษาแบบพราหมณ์ไม่สามารถจะขยายออกไปให้กว้างขวางได้ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย กล่าวคือครูคนเดียวสอนศิษย์หมู่น้อยๆ ในบ้านของตนเท่านั้น ส่วนระบบการศึกษาแบบพระพุทธศาสนาดำเนินงานโดยคณะครูและศิษย์มาก จึงสามารถขยายการศึกษาออกไปได้กว้างขวาง๔
ก่อนที่มหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นนั้น ระบบการศึกษาของ อินเดียได้มีการเปลี่ยนแปลงมาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้วนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จ อุบัติขึ้นมา ได้ทำลายระบบการผูกขาดของศาสนาพราหมณ์ เปิดโอกาสให้ทุกคนทุกชั้นวรรณะได้มีโอกาสศึกษาอย่างเต็มที่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน ตามภาษาท้องถิ่นไม่จำกัดอยู่เฉพาะภาษาสันสกฤตเท่านั้น และการศึกษาภายในวัดได้เกิดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในครัวเรือน มาเป็นการศึกษาแบบสถาบัน พระเจ้าศกราทิตย์ หรือพระเจ้ากุมารคุปตะที่ ๑ (พ.ศ.๙๕๘-๙๙๘) แห่งราชวงศ์คุปตะ ได้ทรงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งในสวนมะม่วงที่เมืองนาลันทา กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะองค์ต่อมา คือ พระเจ้าพุทธคุปตะ, พระเจ้าตถาคตคุปตะ, พระเจ้าพาลาทิตย์, พระเจ้าวัชระ, ได้สร้างวัดขึ้นอีก ๔ วัดในบริเวณใกล้เคียงกัน ต่อจากนั้นพระองค์ได้ทรงให้สร้างกำแพงสูงขึ้นล้อมรอบวัดต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด ทำให้วัดต่างๆ อยู่ภายในกำแพงเดียวกัน โดยมีประตูใหญ่เข้าออกประตูเดียว นอกจากนี้ ยังมีกษัตริย์จากต่างประเทศคือ พระเจ้าพาลปุตรเทวะแห่ง ชวาได้ไปสร้างวิหารที่นาลันทาจึงทำให้ นาลันทากลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในรูปมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศ อินเดียและต่างประเทศ๕
นักศึกษาที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยนาลันทา มีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ทั้งมหายาน และหีนยาน ทั้งชาวพุทธ และ มิใช่ชาวพุทธ ทั้งชาวอินเดียและชาวต่างประเทศ มหาวิทยาลัยประกอบด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ บรรจุผู้ฟังได้จำนวนพันขึ้นไป มี ๘ แห่ง มีห้องเรียน ๓๐๐ ห้อง นักศึกษาทั้งหมดพักอยู่ในมหาวิทยาลัย
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕