บรรจบ บรรณรุจิ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 265
- 276
ผู้เขียนดีใจที่ได้เห็นพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เสร็จสมบูรณ์แล้วและกำหนดให้มีการสมโภชในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
ที่ดีใจเพราะเห็นว่าเป็นงานของสถาบันที่ผมเคยศึกษาเล่าเรียนมาซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น
งานครั้งนี้จึงถือเป็นงานสนองพระราชประสงค์โดยแท้
กล่าวถึงพระไตรปิฎก ชาวพุทธต่างรู้จักกันดีว่าเป็นคัมภีร์สำคัญและศักดิ์สิทธิ์
เพราะเป็นแหล่งบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้เราจะยังไม่ชัดเจนว่า
คำว่า พระไตรปิฎก นั้นเกิดมีขึ้นเป็นปฐมตั้งแต่เมื่อใด แต่ก็พออนุมานกันได้ว่า
น่าจะมีคำนี้ใช้ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอโศก เหตุที่อนุมานเช่นนั้นเพราะถือตามหลักฐานในสังคายนา
ครั้งที่ ๒ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ผู้ปรารภให้เกิดการทำสังคายนาครั้งนั้น
คือ พระยสะ กากัณฑบุตร ว่า "ธมฺมธโร วินยธโร มาติกาธโร" แปลว่า
"ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา" แม้จะมีหลายท่านพยายามตีความว่า
คำว่า "มาติกา" คือ หัวข้อในพระวินัย หรือ สิกขาบท นั้นเอง แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเลย
เพราะหากตีความเช่นนั้น คำว่า "วินัย" ก็น่าจะคลุมความถึงมาติกาได้แล้ว
ฉะนั้น มาติกา จึงน่าจะมีความหมายพิเศษ
มาติกา คือ หัวข้อ เอ.เค. วอร์เดอร์ อธิบายว่า ได้แก่ บัญชีหัวข้อเรื่อง
ซึ่งเสนอแต่เฉพาะหัวข้อองค์ธรรมไว้เป็นชุด (INDIAN BUDDHISM หน้า
๑๐) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในช่วงสังคายนาครั้งที่ ๒ ได้แบ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็น
๓ หมวด คือ หมวดวินัย หมวดธรรม และหมวดมาติกา หมวดมาติกานี้เองได้วิวัฒนาการมาเป็นอภิธรรมปิฎกในยุคของสังคายนาครั้งที่
๓ ว่ากันว่า นิกายพาหุศรุติยะหรือนิกายพหุสสุติกะได้นำคำ มาติกา
ไปใช้เป็นปิฎกหนึ่ง เรียกว่า มาติกาปิฎก
ถึงตอนนี้ก็พอสรุปสันนิษฐานกันได้ระดับหนึ่งว่า คำว่า พระไตรปิฎก
มีขึ้นเมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ อันแสดงให้เห็นว่า ในการทำสังคายนาครั้งที่
๓ นั้น นอกจากจะทำตามอย่างสังคายนา ๒ ครั้งแรกแล้ว สิ่งที่แปลกใหม่ก็คือ
การจัดกลุ่มและเรียกชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าใหม่ว่า วินัยปิฎก
สุตตปิฎก (สุตตันตปิฎก) และอภิธรรมปิฎก
พระไตรปิฎก มาจากคำสันสกฤตว่า ตฺริปิฎก ซึ่งตรงกับคำบาลีว่า ติปิฎก
หรือ เตปิฏก ซึ่งเป็นตัวแทนพระธรรมที่เรากล่าวขอถึงเป็นสรณะนั่นเอง
ชาวพุทธบนแผ่นดินไทยรู้จักพระไตรปิฎกมาเป็นเวลา ๒,๐๐๐ ปีเศษ คือ
นับตั้งแต่เวลาที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙ ส่วนชาวพุทธไทยผู้เป็นบรรพบุรุษของคนไทยอย่างเราก็รู้จักพระไตรปิฎกเมื่อราว
พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ยืนยันเรื่องนี้ไว้ว่า
"...เบื้องตะวันตกสุโขทัยนี้มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทาน
แก่พระสังฆราชปราชญ์เรียนพระไตรปิฎก หลวก (รู้หลัก,ฉลาด) กว่าปู่ครูในเมืองนี้
ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา..."
นอกจากรู้จักพระไตรปิฎก คนไทยยังศึกษา (เรียนและสอน) และเขียนหนังสืออธิบายหลักธรรมในพระไตรปิฎกอีกด้วย
เตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง คือ หนังสืออธิบายหลักธรรมเล่มแรกที่เกิดจากน้ำมือของคนไทย
และคนไทยคนแรกที่แต่งหนังสือดังกล่าวก็คือ พญาลิไทย (พระมหาธรรมราชาที่
๑)
หนังสือเล่มนี้มิใช่มีความสำคัญเพียงแต่เป็นหนังสือหรือวรรณคดีไทยเล่มแรกเท่านั้น
ดูเหมือนจะใช้เป็นคู่มือในการปกครองประเทศด้วยโดยมุ่งให้ประชาชนได้รู้จักความดีความชั่วแล้วดำเนินชีวิตไปตามทางความดีที่เรียกว่า
"กุศลกรรมบถ" ซึ่งเป็นทางช่วยให้สังคมมีความสงบสุข ฉะนั้น หากจะเทียบกับพุทธศาสนานิกายมหายาน
ซึ่งนิยมแต่งหนังสืออธิบายขยายความคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นใหม่แล้วกำหนดเรียกว่า
"สูตร" เตภูมิกถาเล่มนี้ก็น่าจะจัดเป็นสูตรสูตรหนึ่งได้ เรียกว่า
"เต
ภูมิกสูตร" (แต่เมื่อวิเคราะห์ดูอีกทีตามประวัติศาสตร์คัมภีร์พุทธศาสนา
จะพบว่า ในระยะหลังท่านก็ใช้คำแทนชื่อสูตรหลายคำเช่น ชาดก และ
กถา ฉะนั้น เตภูมิกถา ก็น่าจะจัดเป็น เตภูมิกสูตร ได้)
ชาวพุทธไทยก็เหมือนกับชาวพุทธทั่วโลก คือ ถือพระไตรปิฎก เป็นสิ่งสำคัญ
และนับถือพระไตรปิฎกเหมือนนับถือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์
พระพุทธเจ้าแม้พระองค์จริงจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว ปรากฏให้เห็นก็มีแต่พระรูปของพระองค์ที่ปฏิมากรจินตนาการขึ้นมาให้กราบไหว้กัน
แต่เราก็ถือเสมือนว่าพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ เราจึงสร้างโบสถ์
วิหาร หรือ ศาลา หลังใหญ่โตสวยงามให้เป็นที่ประทับของพระองค์ และเข้าเฝ้าถวายสักการะบูชากล่าวคำสรรเสริญสดุดีวันละ
๒ เวลา คือ เช้า กับ เย็น ซึ่งเราเรียกระเบียบปฏิบัตินี้ว่า
ทำวัตรเช้า และ ทำวัตรเย็น
วัตร ก็คือ ธรรมเนียมปฏิบัติ
หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำกันจนเป็นธรรมเนียม คงจะเลียนแบบมาจากวัตตขันธกะ ในพระวินัยปิฎกนั่นเอง ซึ่งถือว่า การทำความเคารพครูอาจารย์นั้นเป็นวัตรอย่างหนึ่ง
การที่เราไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในโบสถ์ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ
ก็คือ ไปแสดงความเคารพพระองค์ บรรพบุรุษของเรากำหนดให้ทำเป็นธรรมเนียม
ฉะนั้น จึงเรียกว่า ทำวัตร
พระรูปใดไม่ทำก็ไม่ถือว่ามีความผิด แต่ก็ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ของพระไม่สมบูรณ์
พระสงฆ์ คือ โอรสหรือลูกของพระพุทธเจ้า เมื่อเคารพพระบิดาแล้วก็ต้องเคารพลูกด้วย
เราแสดงความเคารพออกมาด้วยการสร้างวัดวาอารามและถวายอาหารบิณฑบาต
คนไทยนับถือพระสงฆ์เป็นขวัญชีวิต และ พลังใจ ฉะนั้น เวลามีทุกข์มีร้อนจึงมักขอให้คุณพระช่วย
หรือเมื่อพ้นจากความทุกข์ร้อนได้ก็มักจะบอกว่า พระมาโปรด
ส่วนด้านพระธรรมเล่า เราก็ปฏิบัติต่อพระธรรมเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต
ธรรมดาสิ่งมีชีวิตย่อมต้องการที่อยู่อาศัยเครื่องนุ่งห่มรวมทั้งอาหารการกิน
เมื่อพระธรรมถูกจัดแบ่งเป็นพระไตรปิฎกและถูกจารเป็นตัวอักษรลงในใบลาน
เราก็ถือใบลานนั้นเป็นประหนึ่งมีชีวิตชีวา เราจึงปฏิบัติต่อพระธรรมในลักษณะต่าง
ๆ คือ หาผ้ามาห่อ โดยผ้าห่อนั้นต้องปักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง
จากนั้นก็ หาเชือกมาผูก จากนั้นก็นำไปใส่หีบที่จัดทำไว้อย่างดี
ใช่เพียงแต่เท่านั้น เรายังสร้างตู้บรรจุอีก แล้วนำไปตั้งประดิษฐานไว้ในหอหรือมณฑป
ซึ่งเรานิยมเรียกกันว่า หอไตร ซึ่งก็เป็นคำย่อของคำว่า หอไตรปิฎก
นั้นเอง
จะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวของเรา ก็คือ การกระทำต่อสิ่งเคารพที่เรารู้สึกว่ามีชีวิต
ชาวพุทธไทยได้ปฏิบัติต่อพระธรรมอย่างนี้มานานแล้วและสืบต่อเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุครัตนโกสินทร์
ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๑๐) ชาวพุทธไทยต้องสะเทือนใจหลายเรื่อง
นับตั้งแต่เสียใจเรื่องบ้านเมืองถูกทำลาย การบาดเจ็บล้มตายของผู้คน
จนกระทั่งถึงวัดวาอารามและพระพุทธรูปถูกทำลายรวมทั้งพระไตรปิฎกด้วย
ในคัมภีร์สังคีติยวงศ์ที่แต่งโดยพระพิมลธรรม ผู้เป็นชาวอยุธยาและได้รู้ได้เห็นได้ทุกข์วิโยคกับภัยสงครามครั้งนั้นด้วยมีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
"...พระธรรมวินัย ไตรปิฎก เมื่อไม่มีการรักษาเสียแล้วก็วินาศไปต่าง
ๆ คือ พวกมิจฉาทิฏฐิยื้อแย่งเอาผ้าห่อและเชือกรัดไปบ้าง ตัวปลวกกินยับเยินไปบ้าง
และพินาศสูญไปต่าง ๆ โดยที่พลัดลงดินเปียกน้ำผุไปเสียบ้างก็มี
ภายหลังภิกษุทั้งหลายเห็นพระธรรมยังเหลืออยู่น้อย มีจิตกอปรด้วยศรัทธา
ได้รวบรวมพระธรรมเหล่านั้นไว้ แต่พระธรรมวินัยบางคัมภีร์ที่ยังมั่นคงอยู่ก็มี
บางคัมภีร์ก็ได้เหลืออยู่ผูก ๑ กว่าบ้าง ๒ ผูกเศษบ้าง เต็มคัมภีร์บ้าง
ครึ่งคัมภีร์บ้าง บริบูรณ์บ้าง ไม่บริบูรณ์บ้าง บังเกิดอากูลต่าง
ๆ กัน ...เลือกรวบรวมได้ตามสติกำลังนำมาเก็บไว้ยังสำนักตน..."
(สังคีติยวงศ์, หน้า ๔๐๗) และพระธรรมที่เลือกรวบรวมมาได้นั้นก็เป็นประโยชน์ต่อชาวอยุธยาผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งมหันตทุกข์ดังมีบันทึกไว้ต่อมาว่า
"...ฝ่ายทายกผู้ถวายปัจจัยที่เหลือตายอาศัยเคยสะสมกุศลธรรมไว้แต่ก่อน
ๆ มีทรัพย์เหลืออยู่บ้างเล็กน้อย ได้อาหารอันชาวชนบทเขานำมาบ้าง
(คือแลกเปลี่ยน) และได้อาหารมาด้วยกำลังแขนของตนบ้าง ด้วยเดชกุศลธรรมปางก่อนของตนด้วย
ด้วยเหตุการทำทานด้วยภูมิผลสืบในพระศาสนาก็มีอินทรีย์ (ร่างกาย)
บริบูรณ์ใคร่จะฟังพระสัทธรรมเทศนาด้วยน้ำใจใสศรัทธาบางสมัยก็ได้ไปสู่สำนักภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
วิงวอน (ขอให้แสดงธรรม)
ภิกษุเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นผู้มีการศึกษามามากหรือมีการศึกษามาน้อยก็ตาม
ก็ปรารถนาลาภสักการะเพื่อจะรักษาชีวิตตนก็รับสำแดงธรรม จึงได้เลือกพระธรรมที่ตนเก็บมาได้พิจารณาดูก็สำแดงพระสัทธรรมเทศนาแก่คนเหล่านั้นด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ตามความรู้เห็นที่ตนได้ศึกษามา
ทายกเหล่านั้น ครั้นได้ฟังธรรมเทศนาแล้วและกำลังยังโศกมากด้วยความพลัดพรากจากลูกหลานและเครือญาติ
ได้ท่วมทับอยู่ด้วยญาติวิโยค เมื่อระลึกถึงญาติเหล่านั้น ที่มีศรัทธาอ่อนก็มี
มีศรัทธามากก็มี ให้บังเกิดความสังเวชใจมาก เมื่อระลึกถึงทุกข์ภัยของตน
ก็ได้เลือกเก็บพระพุทธรูปและพระธรรมมาทำบุญฉลองแล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติทั้งหลาย
ชนบางจำพวกได้ให้ลูกและหลานของตนบรรพชาในพระพุทธศาสนา
ต่อมา เพราะได้ทำบุพกรรมไว้ ภิกษุเหล่านั้นก็มีพวกมาก มีอันเตวาสิกมาก
บริบูรณ์ด้วยจตุปัจจัยทั้งหลายมีใจคอเอิบอิ่มก็ได้ยังความอุตสาหะให้เกิดขึ้นแล้ว
พากันแสวงหาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ได้แลเห็นพระพุทธรูปทั้งหลายมีอวัยวะน้อยใหญ่แตกหักพังทำลายบ้างอากูลต่าง
ๆ พินาศเสียหายบ้าง ทั้งกุฎีวิหารสีมาพระพุทธสถูปก็ได้พินาศต่าง
ๆ จึงพา
กันเกิดความสังเวชสลดใจกลั้นน้ำตามิได้ เพราะความรักพระพุทธศาสนาเหลือล้น
มีหทัยหวั่นไหวอยู่ จึงพร้อมกับอันเตวาสิกเก็บรวบรวมพระพุทธรูปทั้งหลายไปไว้ในสถานอันควร
พระธรรมวินัยเหล่าใด ที่ยังเหลืออยู่จากความฉิบหายมีมากน้อยเท่าใด
ก็ขนพระธรรมวินัยเหล่านั้นไปตามที่มีอยู่นั้น ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นได้พากันนำไปไว้ในสถานของตน
ชนทั้งหลายค่อยมีอาหารบริบูรณ์ขึ้น ได้พากันสร้างบ้านปลูกเรือนขึ้นในหมู่บ้านเก่า
(เดิม) และในไร่นาที่ดินเก่าที่เคยอยู่มาก่อนตามที่ต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฉันอาหารบิณฑบาตต่าง ๆ ก็พากันทำกระท่อมพะเพิงในวัดเก่าอยู่กับสหายและนิสิตทั้งหลายของตนและได้ปลูกกุฎิขึ้นแล้วพากันจำพรรษาอยู่ในกุฎินั้น..."
จากข้อความที่กล่าวไว้ในสังคีติยวงศ์นี้ สะท้อนให้เห็นจิตสำนึกของชาวพุทธไทยที่ห่วงใยพระไตรปิฎก
ทุกคราวที่มีการสร้างบ้านเมือง พระมหากษัตริย์ไทยจะไขว่คว้าหาพระไตรปิฎกมาเป็นหลักสำหรับฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
คราวสร้างกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชรับสั่งให้หาพระไตรปิฎกมาจากเมืองนครศรีธรรมราช
แต่เนื่องจากทรงครองราชย์ชั่วเวลาอันสั้น (๑๕ ปี) ไม่ทรงมีเวลาในการจัดให้มีการชำระอักขระ
จึงตกเป็นภาระของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พระอนุชา สังคีติยวงศ์บันทึกเรื่องราวครั้งนี้ไว้ว่า
"สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์นั้น ทรงทราบว่าพระไตรปิฎก
คือ พระพุทธวจนะทั้งหลายมีอักษรอันวิปลาสฉิบหายแล้ว ก็มีพระหฤทัย
ไหวหวั่นด้วยความรักพระศาสนาอย่างยิ่งจึงทรงดำริว่า ควรเราทั้งหลายจะทำพระพุทธวจนะให้เจริญ
พระพุทธวจนะเป็นของที่หาที่เปรียบมิได้ มีอักษรพิรุธ ฉบับหายเสียแล้วก็จะไม่มีที่พึ่งแล
น่าสังเวช กุลบุตรทั้งหลายผู้เกิดมาภายหลังในพระพุทธศาสนาเมื่อไม่รู้คุณและโทษ
ก็จะพากันมืดมัวมากด้วยโทสะและโมหะ
ลุพระพุทธศักราช ๒๓๓๑ แล้วปีวอก จึงได้ทรงหารือเหตุการณ์นั้นด้วยพระราชาคณะทั้งหลาย
มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พระราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานครั้นเล็งเห็นเหตุการณ์นั้นแล้วก็รับพระราชโองการว่าสาธุ
แล้วจึงมาเลือกสรรได้ภิกษุทั้งหลาย ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตได้ ๓๒ นาย
พระเถระเจ้าทั้งหลายได้ยกเหตุการณ์นั้นของสมเด็จพระบรมกษัตราธิราชเจ้าทั้ง
๒ พระองค์ ทำสังคายนาพระธรรมวินัยในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ณ วัดพระศรีสรเพชุดาราม
ครั้งนั้นก็บันดาลอัศจรรย์มีมืดมนอนธการ เมฆคำรามกึกก้อง ลมพายุพัดต้องหนาวเย็นจัดเหลือที่จะเย็น
มิอาจที่ว่าจะทนทานได้ตลอดวันและคืน สมเด็จพระราชาเจ้าได้ทรงอนุเคราะห์และถวายเตาเพลิงให้ภิกษุทั้งหลายผิง
ภิกษุทั้งหลายพากันโสมนัสแล้วอาราธนาเทวดาทั้งหลายเพื่อให้อนุเคราะห์ต่อพระธรรมวินัยในเถรสมาคม
พระเถรเจ้าทั้งหลายนั้นครั้นปรึกษากันแล้วจึงปันหมู่ภิกษุออกเป็น
๔ กอง ให้ทำพระพุทธวจนะ คือ พระธรรมพระวินัยที่มีอักษรพิรุธมีประการต่าง
ๆ เป็นสิถิลและธนิตเป็นอาทิแลให้เขียนแก้ที่โบราณเขียนไว้โดยความพลั้งเผลอให้ทำเสียให้ดีตามสติกำลังด้วยจิตบริสุทธิ์เลื่อมใส
แม้จะยากลำบากก็ตาม
ครั้งนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิต ๓๒ นาย ก็พากันลงมือสังคายนาพระวินัยปิฎกก่อน
(แล้วจึงสังคายนาพระสูตรและพระอภิธรรม) ...แล้วจึงได้จารพระพุทธพจน์นั้นให้บริสุทธิ์ตามสติกำลัง...
พระเถระเจ้าทั้งหลาย สร้างพระธรรมวินัยโดยเหตุและวิธีต่าง ๆ ยังธรรมวินัยนั้น
ๆ ให้สำเร็จไปและให้เขียนไว้ตราบเท่ากาลสำเร็จลงได้ การสร้างพระธรรมวินัยนั้น
ๆ สำเร็จหลายพันผูกทำให้อักษรงามบริบูรณ์กว่าแต่ก่อนตามกำลังความสามารถที่ทำได้สิ้นวันและคืนนับได้ปีเศษ
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์ได้ให้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจตุปัจจัยทั้งหลายมีประการต่าง
ๆ ใช่แต่เท่านั้นได้พระราชทานเครื่องวิจิตรต่าง ๆ เครื่องหอมกรุ่นต่าง
ๆ เครื่องลาดต่าง ๆ จีวรผ้าโกสัยและกัปปาสิกสีงามต่าง ๆ ถลกบาตร
สายบาตร สายโยก เหล็กไฟและล่วม แว่นกระจกและล่วม ฝักกำมลอ สักลาด
และพัสดุต่าง ๆ ควรแก่สมณสารูป เรืองามต่าง ๆ มีเครื่องครุภัณฑ์ประดับงามวิจิตร
เขียนทองทาทองต่าง ๆ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองบุญใหญ่เป็นการพระกุศลกรรมมีประการต่าง
ๆ มีพระอาการเลื่อมใสทรงปีติโสมนัสในพระพุทธศาสนา ทรงดำรงกองบุญมีอเนกประการ
ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อพระสัพพัญญุตญาณ
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์นั้นได้ทรงสดับอานิสงส์ต่าง
ๆ ที่มาในคัมภีร์ทั้งหลายคือ พระอานิสงส์วิหารทาน ๑ พระอานิสงส์ถวายอุโบสถาคารสถาน
(โรงอุโบสถ) ๑ อานิสงส์ถวายเครื่องรองรับพระธาตุที่ฝังในเจติยสถาน
๑ อานิสงส์การสร้างมณฑปบรรจุพระธาตุและพระธรรม ๑ อานิสงส์การจารพระไตรปิฎกพุทธ-วจนะ
๑ แล้วโปรดให้สร้างตามเรื่องที่ได้ทรงสดับมานั้น..." (สังคีติยวงศ์,
หน้า ๔๔๕)
หากจะถามต่อไปว่า ทำไมหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าโลกและสมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงอุทิศพระองค์และพระราชทรัพย์เพื่อพระไตรปิฎกถึงมากมายเพียงนั้น
คำตอบคงมิใช่เพียงเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น เรื่องนี้มีทางให้พิจารณาเพิ่มเติมได้อีก
๒ ประเด็น คือทรงเห็นอานิสงส์การสร้างพระธรรม กับทรงเชื่อว่าอักษรที่บรรจุพระธรรมแต่ละตัวนั้นมีค่าเทียบเท่าพระพุทธรูป
๑ พระองค์
กล่าวถึงการสร้างพระธรรมก่อน สังคีติยวงศ์ได้กล่าวถึงอานิสงส์ต่าง
ๆ ไว้ สรุปได้ คือ
๑. อานิสงส์ถวายมณฑปสำหรับบรรจุตู้พระธรรม จะทำให้ไปเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองทวีปทั้ง
๔ และมีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร
๒. อานิสงส์ถวายใบลานสำหรับจารพระธรรม จะทำให้ได้ไปเกิดในสวรรค์
มีรูปร่างสวยงามปราศจากทุกข์ทั้งปวง
๓. อานิสงส์การจาร(เขียน)พระธรรมลงในใบลาน จะทำให้มีปัญญามากได้เจโตปริยญาณ
(รู้ใจผู้อื่น)
๔. อานิสงส์การทาชาดและหรดาลเพื่อให้พระธรรมสวยงาม จะทำให้มีรัศมีกายสวยงาม
๕. อานิสงส์ปิดทองพระธรรม จะทำให้มีจิตใจสะอาดผ่องใส และมีสีกายงามดั่งทอง
๖. อานิสงส์ถวายผ้าห่อ จะทำให้ได้เรือนคลัง ๘๔,๐๐๐ หลัง
๗. อานิสงส์ถวายสายรัด จะทำให้รักษาสมบัติของตนเองไว้ได้ ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่แล้วจะไม่เสียหาย
๘. อานิสงส์ถวายข้าคนให้รักษามณฑปพระธรรม จะทำให้มีราชบุรุษห้อมล้อมเป็นปริมณฑลได้
๓๖ โยชน์ และหากเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจะมีผลตามมาดังนี้
๘.๑ มีปราสาทที่ประทับ ๘๔,๐๐๐ องค์
๘.๒ มีแก้วมณี ๘๔,๐๐๐ ดวง
๘.๓ มีพระราชโอรส ๑,๐๐๐ พระองค์ ล้วนองอาจในการสงคราม
๘.๔ มีม้าทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ ม้า
๘.๕ มีพระบรรจถรณ์ (ที่บรรทม) แก้ว ๗ ประการ ๘๔,๐๐๐ แท่น
๘.๖ มีคลังผ้า ๘๔,๐๐๐ หลัง
๘.๗ มีผ้าเนื้อละเอียด คือ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าเปลือกไม้
ส่วนความเชื่อเรื่องอักษรแต่ละตัวมีค่าเทียบเท่าพระพุทธรูป สังคีติยวงศ์ก็กล่าวไว้ว่า
"แม้ว่าอักษรแต่ละตัว ๆ ก็ทรงคุณเสมอด้วยพระพุทธรูปแต่ละองค์ ๆ
เพราะเหตุนั้น สาธุชนผู้บัณฑิต พึงจารึกพระไตรปิฎกไว้
ก็เป็นอันชื่อว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ พระองค์
ยังทรงพระชนม์อยู่
เมื่อพระไตรปิฎกยังดำรงอยู่ (ตราบใด)
ผลคืออักษรดังพระพุทธรูป จะพึงดำรงอยู่เสมอ (ตราบนั้น)
เพราะเหตุนั้น ให้สาธุชนพึงจารด้วยตนเองและให้ผู้อื่นจารพระธรรมลงไว้ในใบลานและบรรจุไว้ในพระเจดีย์
อักษรแห่งพระไตรปิฎกทั้งหลายท่านประมาณไว้ว่า ๔๐๐ โกฎิ ๗๒ อักษร
พระไตรปิฎกเหล่าใดที่ได้บรรจุไว้แล้ว ปิฎกเหล่านั้นก็ได้ชื่อว่าเหมือนสร้างพระปฏิมากรไว้
๔๐๐ โกฎิ ๗๒ พระองค์"
ผู้เขียนเชื่อว่าประเด็นทั้ง ๒ นี้ จะต้องเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์และพระอนุชา
เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคีติยวงศ์กล่าวเน้นถึงการสร้างตู้พระธรรมเป็นพิเศษดังจะเห็นได้จากข้อความว่า
"โดยวาระพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลใดในพระศาสนานี้
จะเป็นหญิงก็ดี ชายก็ดี กษัตริย์ หรือ พราหมณ์ พ่อค้า ศูทร คนพาลและบัณฑิตก็ตาม
มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ถวายตู้สำหรับบรรจุพระธรรมแล้ว มหาผล
มหาอานิสงส์จักมีแก่ชนทั้งหลายจำพวกนั้น เหมือนกับพระสารีบุตรผู้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าปุสสะผู้ทรงพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ถวายตู้บรรจุพระธรรม..."
และสรุปอานิสงส์ของการสร้างตู้บรรจุพระธรรมไว้ ๑๑ ประการ คือ
๑. ได้สั่งสมกุศลมูลไว้มากในพระพุทธศาสนา
๒. จะไม่ตายอย่างคนหลงสติ
๓. หากไปเกิดในหมู่มนุษย์สามัญจะมีผลตามมาดังนี้
๓.๑ มีอำนาจยิ่งใหญ่ได้สิ่งสมปรารถนา
๓.๒ มีกลิ่นกายหอมฟุ้ง
๓.๓ มีผิวพรรณสวยงาม
๓.๔ มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติและบริวาร
๔. หากไปเกิดเป็นกษัตริย์จะมีผลตามมาดังนี้
๔.๑ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองทวีปทั้ง ๔
๔.๒ มีแก้ว ๗ ประการเกิดมาเป็นของคู่บุญ
๔.๓ ปราสาทที่ประทับจะมีแสงแก้วสว่างไสวไกลถึง ๑๒ โยชน์
๔.๔ แวดล้อมด้วยนารีแสนนางปานประหนึ่งนางฟ้า
๔.๕ มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ให้ประทับ
๔.๖ จะเสด็จไปทางใดก็แวดล้อมด้วยเหล่าเสนามาตย์พร้อมทั้งขบวนรถ
ขบวนช้าง ขบวนม้า และขบวนทหารราบ ติดตามเป็นขบวนใหญ่ถึง ๗ โยชน์
๕. หากไปเกิดเป็นเทวดา จะได้เป็นพระอินทร์ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถึง
๗ ครั้ง
๖. หากเกิดเป็นมนุษย์อีก จะได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๓๖ ชาติ
๗. (จากนั้น) ก็จะได้เกิดเป็นพระราชาปกครองประเทศอีกหลายชาติ
๘. ต่อมา เมื่อเกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะมีผลตามมาดังนี้
๘.๑ ได้รับเกียรติในที่ทุกสถาน
๘.๒ มีสติปัญญาหลักแหลม
๘.๓ มีอวัยวะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สะอาดผ่องใส
๘.๔ มีจิตบริสุทธิ์ (คิดในสิ่งที่ดี)
๙. จะได้พบพระพุทธเจ้าแล้วออกบวชและบรรลุมรรคผลในที่สุด
๑๐. จะได้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก
๑๑. หากปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้บำเพ็ญบารมีต่อไป
เห็นอานิสงส์เกี่ยวกับการสร้างพระธรรม คือ พระไตรปิฎกที่กล่าวไว้ในสังคีติยวงศ์อย่างนี้แล้ว
ก็พลันหวนระลึกถึงสัทธรรมปุณฑรีกสูตร พระสูตรสำคัญสูตรหนึ่งของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน
พระสูตรนี้แต่งเป็นภาษาสันสกฤต สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งราว พ.ศ.
๖๐๐-๘๐๐ ในบทที่ ๑๘ มีกล่าวถึงอานิสงส์ของการทรงจำ อ่าน สอน และคัดลอกพระธรรมไว้ว่า
"... กุลบุตรหรือกุลธิดาผู้ทรงจำ อ่าน สอน และคัดลอกพระธรรมบทนี้
จะมีตาประกอบพร้อมด้วยคุณลักษณะ ๘๐๐ แจ่มใส เห็นชัด และเห็นโลกทั้งหมด
เห็นลึกลงไปถึงใต้อเวจีและเห็นสูงขึ้นไปถึงที่สุดภพ... จะมีหูประกอบพร้อมด้วยคุณลักษณะ
๘๐๐ แจ่มใส ฟังได้ชัดได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้ไกล...จะมีจมูกประกอบพร้อมด้วยคุณลักษณะ
๘๐๐ แจ่มใส รับกลิ่นได้ชัด...จะมีลิ้นประกอบพร้อมด้วยคุณลักษณะ
๘๐๐ แจ่มใส รับรสได้ดี เปล่งเสียงได้ไพเราะ...จะมีกายประกอบพร้อมด้วยคุณลักษณะ
๘๐๐ แจ่มใส สะอาด..." (สัทธรรมปุณฑรีกสูตร บทที่ ๑๘)
การกล่าวถึงอานิสงส์ของการทรงจำ และการสร้างพระธรรมทั้งที่ปรากฏในสังคีติยวงศ์และสัทธรรมปุณฑรีกสูตร
ผู้เขียนยังไม่เคยพบเลยในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฝ่ายบาลี มาพบก็แต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง
โดยเฉพาะแนวความเชื่อเรื่องอักษรจารึกพระธรรมแต่ละตัวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูป
๑ องค์นั้นพบมากที่สุดในคัมภีร์ประเภทปกรณ์วิเสส อาทิ โสตัตถกี
มหานิทาน ปัญญาสชาดก และสังคีติยวงศ์ จึงทำให้น่าศึกษาว่าระหว่างมหายานกับเถรวาท
นิกายไหนให้กำเนิดแนวความเชื่อนี้
กลับมาเรื่องพระไตรปิฎกต่อ หลังจากรัชกาลที่ ๑ มาแล้ว รัชกาลต่อ
ๆ มาก็ทรงให้ความสำคัญต่อพระไตรปิฎก จึงทำให้เกิดพระไตรปิฎกฉบับหลวง
ฉบับทองน้อย ฉบับทองใหญ่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ (ร.๑ - ร. ๕) พระไตรปิฎกบันทึกเป็นอักษรขอมทั้งหมด
ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของขอมที่มีต่อแผนดินผืนนี้ในอดีต
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงศักดิ์ศรีของความเป็นไท
จึงรับสั่งให้ปริวรรตจากอักษรขอมมาเป็นอักษรไทยแล้วพิมพ์เป็นเล่มสมุด
พระไตรปิฎกชุดนี้แหละต่อมาก็คือพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ตกสมัยรัชกาลที่
๘ จึงมีการแปลเป็นภาษาไทยทำให้เรามีพระไตรปิฎกฉบับแปลไทยเป็นครั้งแรก
ต่อมาเราได้มีพระไตรปิฎกแปลไทยอีกฉบับหนึ่งจัดทำโดยสำนักพิมพ์
ส.ธรรมภักดี เป็นสำนวนเทศนาโวหารได้รับความนิยมพอสมควรเพราะนักเทศน์สามารถถือขึ้นอ่านบนธรรมาสน์ได้เลย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ หรือ ๒๕๒๘ ก็มีพระไตรปิฎกแปลไทยอีกสำนวนหนึ่งจัดทำโดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
พระไตรปิฎกฉบับนี้มีพิเศษตรงที่แปลอรรถกถาของแต่ละสูตรแล้วพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกับพระไตรปิฎก
จนกระทั่งมาถึง พ.ศ. ๒๕๔๒ เรามีพระไตรปิฎกสำนวนไทยขึ้นอีกฉบับหนึ่ง
ก็คือพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ของเรานี่เอง
เท่าที่เล่ามาพอจะเห็นได้ว่า คนไทยได้แสดงคุณค่าและจิตสำนึกของตัวเองออกมาในการรักษาสืบต่อพระไตรปิฎก
แต่คนไทยยังเห็นคุณค่าทางการศึกษาน้อยมาก ในสถาบันการศึกษาทั้งหลายแม้จะมีวิชาพระไตรปิฎกอยู่ก็เรียนกันฉาบฉวยเต็มที
มหาวิทยาลัยสงฆ์ทุกแห่งซึ่งต้องเป็นหลักในเรื่องนี้ก็ตกอยู่ในลักษณะเดียวกัน.
|