ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

วิธีศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก


เสฐียรพงษ์ วรรณปก เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 253 - 264
บทความนี้ เสนอแนวคิดสำหรับการศึกษาและค้นคว้าพระไตรปิฎกเพียงสั้น ๆ พอปฏิบัติได้สำหรับชาวพุทธไทย มิได้ประสงค์ให้เป็นบทความทางวิชาการแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องมีฟุตโน้ต เชิงอรรถ และหนังสืออ้างอิงใด ๆ จะพูดเป็นประเด็นตามลำดับดังนี้

๑. พระไตรปิฎกคืออะไร
พระไตรปิฎกคือคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (คำสอนของคนอื่นที่พระพุทธองค์ทรงรับรองก็นับรวมในที่นี้ด้วย) แบ่งเป็น ๓ ปิฎกคือ (๑) พระวินัยปิฎก (๒) พระสุตตันตปิฎก และ (๓) พระอภิธรรมปิฎก
พระวินัยปิฎก ว่าด้วยสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ รวมถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่ของสงฆ์ ระเบียบวิธีปฏิบัติอันเรียกว่าสังฆกรรม การก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของภิกษุณีสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีพุทธประวัติช่วงหลังตรัสรู้จนถึงการวางรากฐานพระพุทธศาสนา และประวัติสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒ ด้วย แบ่งโดยย่อ ๆ เป็น ๓ หมวด คือ วิภังค์ ขันธกะ และปริวาร
พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกสำคัญบางรูป ตลอดถึงภาษิตของเทวดาที่ทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต แบ่งเป็น ๕ นิกาย หรือหมวด คือ (๑) ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหายาวมาก (๒) มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหายาวปานกลาง (๓) สังยุตตนิกาย ว่าด้วยการประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันไว้ในหมวดเดียวกัน (๔) อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยประมวลหมวดธรรมตามจำนวนหัวข้อธรรมจากน้อยไปหามาก และ (๕) ขุททกนิกาย ว่าด้วยหมวดเบ็ดเตล็ด ที่ตกหล่นจากการจัดหมวดข้างต้น
เนื้อหาในพระสุตตันตปิฎกทั้ง ๕ นิกายนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายถือว่า ๔ นิกายแรกนั้นเก่าแก่ โดยเฉพาะทีฆนิกายน่าจะเก่าแก่กว่าทุกนิกาย ส่วนขุททกนิกาย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นนิกายปลีกย่อยหรือปกิณกะเพิ่มเติมมาภายหลัง เนื้อหาบางส่วนส่อเค้าว่าเพิ่มเติมมาในศรีลังกาเสียด้วยซ้ำ เช่น ขุททกปาฐะ จริยาปิฎก ยกเว้นสุตตนิบาต และธรรมบทที่ถือกันว่าเก่าแก่มาก
พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยการอธิบายธรรมในพระสูตรนั้นแลให้ละเอียดพิสดาร ในแง่วิชาการที่เป็นระบบ มี ๗ หมวดคือ (๑) ธรรมสังคณี ประมวลหัวข้อหมวดธรรมเข้าด้วยกัน (๒) วิภังค์ อธิบายหมวดธรรมในข้อ(๑) นั้นโดยพิสดาร (๓) ธาตุกถา อธิบายวิธีจัดข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ ธาตุ อายตนะ (๔) ปุคคลบัญญัติ บัญญัติเรียกบุคคลต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มี (๕) กถาวัตถุ วินิจฉัยทัศนะของนิกายพุทธต่าง ๆ เน้นความถูกต้องของนิกายเถรวาท (๖) ยมก ยกข้อธรรมขึ้นถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ และ (๗) ปัฏฐาน อธิบายปัจจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ๒๔ แบบ
พระอภิธรรมปิฎก เชื่อกันว่าวิวัฒนาการมาในยุคหลัง ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาหนังสือ ที่เรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน ในแง่ประวัติความเป็นมา ก็บ่งบอกว่าได้แตกแขนงออกจากธรรม-วินัย ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม โดยเป็นแขนงหนึ่งของ "ธรรม" นั้นเอง จึงเชื่อว่ามีมาภายหลังแน่นอน เพราะกถาวัตถุ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๗ คัมภีร์ ก็มีหลักฐานว่าแต่งในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ แม้ว่า พระอรรถกถาจารย์จะพยายามโยงพระอภิธรรมให้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาหลังตรัสรู้ และให้พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปแสดงแก่อดีตพุทธมารดา ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ตาม

๒. พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร
(๑) สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดง ธรรม-วินัย หรือ พรหมจรรย์ เท่านั้น ดังเวลาจะทรงส่งพระอรหันต์สาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา ตรัสสั่งให้ไป "ประกาศพรหมจรรย์" อันงามในเบื้องต้น (งามด้วย อธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง (งามด้วยอธิจิตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยอธิปัญญาสิกขา) และเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก็ตรัสว่า "หลังจากเราตถาคตล่วงลับไป ธรรม และวินัย ที่เราได้แสดงและบัญญัติแก่พวกเธอ จะเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเรา"
(๒) ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะ รวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ยังคงสังคายนา "พระธรรม-วินัย" อยู่ แม้เมื่อกาลล่วงไปประมาณ ๑๐๐ ปี พวกภิกษุวัชชีบุตรได้เสนอขอแก้ไขพระวินัยบัญญัติบางข้อ อ้างว่าพระพุทธองค์ทรงประทานนโยบายไว้ให้แล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายได้ประชุมสังคายนาวินิจฉัยข้อเสนอ (วัตถุ ๑๐ ประการ) ของพวกภิกษุวัชชีบุตรแล้วไม่ยอมรับ การทำสังคายนาครั้งนั้นก็ยังเรียกว่า "ธัมมวินยวิสัชชนา" (การวิสัชนาพระธรรม-วินัย) หรือ "ธัมมวินยสังคีติ" (การสังคายนาพระธรรม-วินัย)
(๓) ในช่วงระหว่างหลังสังคายนาครั้งที่ ๒ จนถึงครั้งที่ ๓ นี้เอง มีผู้สันนิษฐานว่า ธรรม-วินัย ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด (เรียกว่า เตปิฎก = ไตรปิฎก) คือ ธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก กับพระอภิธรรมปิฎก วินัย เป็นพระวินัยปิฎก
มีหลักฐานในจารึกสาญจิ กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเถระ และเถรีบางรูป ว่าเชี่ยวชาญในปิฎกต่าง ๆ หรือบางส่วนของพระสุตตันตปิฎก เช่น เปฏกิน = พระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย สุตตันตินี = พระเถรีผู้ทรงพระสุตตันตะ (พระสูตร) ทีฆภาณิกา = พระเถระผู้สวดทีฆนิกายได้ ปัญจเนกายิกา = พระเถระผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕ ได้
มีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง พระโมคคัลลีบุตร ได้แต่งกถาวัตถุ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และกถาวัตถุถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แสดงว่าพระไตรปิฎกเพิ่งจะมาครบสมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๓ นี้เอง
(๔) พระไตรปิฎก ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบท่องจำ จนกระทั่งไปถึงศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ ได้รับการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกด้วยอักษรสิงหล จากนั้นก็ถ่ายทอดเป็นอักษรของชาติต่าง ๆ ที่สืบทอดพระไตรปิฎก แม้ประเทศไทยก็ได้พระไตรปิฎกมาจากประเทศศรีลังกา
(๕) พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (แขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกเป็นภาษาบาลี หรือ ตันติภาษา เมื่อจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจากภาษาบาลี เป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) ไม่มีอักขระเป็นของตน ผู้ประสงค์จะเรียนพระไตรปิฎก จึงต้อง "ถอด" (transliterate) เป็นอักขระของตน เช่น เรียนที่ประเทศตะวันตก ก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เรียนที่ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย
(๖) พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงแพร่หลายในปัจจุบันคือ (๑) ฉบับโรมัน (ของสมาคมปาลีปกรณ์) (๒) ฉบับสิงหล ของประเทศศรีลังกา (๓) ฉบับพม่า ของประเทศพม่า (๔) ฉบับไทย ที่ถือกันว่าถูกต้องสมบูรณ์ก็คือฉบับสยามรัฐ
ปัจจุบันมีพระไตรปิฎกที่บันทึกลงในแผ่น CD-ROM ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ Chatta Sangayana CD-ROM ของสถาบันค้นคว้าวิปัสสนา ธรรมคิรี อิคัทปุรี อินเดีย บรรจุพระไตรปิฎกทุก Version มีแผ่นบาง ๆ แผ่นเดียวก็สามารถสืบค้นพระไตรปิฎกอักษรต่าง ๆ ได้สบาย ไม่จำต้องใช้หนังสือดังแต่ก่อน

๓. พระไตรปิฎกสำคัญอย่างไรจึงต้องศึกษา
หลายท่านสงสัยว่า จำเป็นด้วยไหมที่จะต้องอ่านพระไตรปิฎก เพราะได้รับบอกเล่าว่า อ่านยาก เข้าใจยาก แม้จะเป็นฉบับแปลเป็นไทยก็ตามที เราจะอ่านเพียงหนังสืออธิบายธรรมะ ที่ท่านผู้รู้เขียนไว้ จะเพียงพอหรือไม่
เนื่องจากพระไตรปิฎกเป็นประมวลคำสอน ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เราจำเป็นต้องอ่านพระไตรปิฎกโดยตรง เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องนั้น ๆ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไร เมื่อไม่กระจ่างตอนไหน ประเด็นใดค่อยอ่านหนังสืออรรถกถา หรือหนังสือที่ผู้รู้ทั้งหลายแต่งขึ้นเพื่อประกอบ ในการศึกษานั้น ท่านวางระดับความสำคัญของคัมภีร์ที่พึงเชื่อถือ ลดหลั่นลงไปดังนี้
(๑) พระไตรปิฎก
(๒) สุตตานุโลม (หมายถึงอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตลอดถึงปกรณ์พิเศษทั้งหลาย)
(๓) เกจิอาจารย์ (ผู้รู้ที่เป็นพหูสูตที่เชื่อถือได้)
(๔) อัตโนมัติ (ความคิดเห็นส่วนตัว)
พระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการศึกษาพระไตรปิฎกไว้ ๖ ประการ ขอคัดลอกมาลงไว้ต่อไปนี้
๑. เป็นที่รวมไว้ซึ่งพุทธพจน์ คือ พระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรา มีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษาไว้ในพระไตรปิฎก
๓. เป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็นไปตามคำสอนที่เป็นต้นเค้า หรือฐานเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราแม่บท
๔. เป็นหลักฐานอ้างอิงการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงขั้นสุดท้ายสูงสุด
๕. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใด ๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลกปลอมก็ตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)
๖. เป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือ และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใด ๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน

๔. จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างไร
พระไตรปิฎก เป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า อยากรู้ว่าพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องนั้น ๆ ไว้อย่างไร จำต้องอ่านพระไตรปิฎก เพื่อจะได้ทราบหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
ขอเสนอวิธีศึกษาดังต่อไปนี้
๑. ให้อ่านเพื่อหาความเข้าใจธรรมะ
อาจเริ่มจากเรื่องที่ยอมรับกันว่าเป็น "แก่น" ของพระพุทธศาสนา ที่ทุกคนต้องรู้ เช่น อริยสัจ ๔ ท่านที่รู้ภาษาบาลีดีควรอ่านจากต้นฉบับภาษาบาลี ท่านที่อ่านบาลีไม่ได้ ก็ให้อ่านจากฉบับแปลเป็นไทย หรืออังกฤษ อ่านไป พยายามทำความเข้าใจไปด้วย ว่าพระพุทธองค์ทรงหมายความอย่างไร
อริยสัจ ๔ พระพุทธองค์ตรัสไว้หลายแห่ง ให้ตามอ่านให้หมด เพื่อสำรวจว่า แต่ละแห่งทรงแสดงพิสดารต่างกันอย่างไรหรือไม่ เทคนิคการนำเสนอ ตลอดถึงวิธีอธิบายเหมือนกันหรือต่างกัน จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้น
อ่านคำอธิบายเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ของพระเถระสำคัญ คือพระสารีบุตร ในส่วนที่เรียกว่าจูลนิทเทส และมหานิทเทส (ในพระไตรปิฎกนี้แล) ว่าท่านขยายอริยสัจ ๔ เป็น อริยสัจ ๘ โดยขยายออกเป็น
๑-๒ ทุกข์ ได้แก่ นาม - รูป
๓-๔ สมุทัย ได้แก่ อวิชชา - ภวตัณหา
๕-๖ นิโรธ ได้แก่ วิชชา - วิมุตติ
๗-๘ มรรค ได้แก่ สมถะ - วิปัสสนา
ให้สังเกตวิธีอธิบายของท่าน แล้วสำรวจตัวเองว่า ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นหรือไม่ มีมุมมองกว้างขวางขึ้นหรือไม่
๒. อ่านเพื่อหาความหมายระหว่างบรรทัด
บางเรื่องไม่มีพูดไว้ตรง ๆ ในพระไตรปิฎก ก็เป็นเรื่องของผู้ศึกษาจะพึงหาความรู้และคำตอบเอาเองโดยพิจารณาจากบริบท หรือความแวดล้อม หรือจะเรียกว่า หาความหมายระหว่างบรรทัดก็ได้ ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
(๑) พระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาเสวยวิมุตติสุข ใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้ใกล้เคียง ๔ สัปดาห์ (๒๘ วัน) เท่านั้น แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ เป็น ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) ถามว่าท่านมีเหตุผลหรือความประสงค์อะไร ท่านมิได้บอกไว้ เป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาจะพึงหาคำตอบเอาเอง ถ้าได้คำตอบที่ "ฟังได้" ก็เป็นเรื่องที่น่าจะรับฟัง เช่น อาจได้คำตอบดังนี้
- ระยะเวลาจากวันตรัสรู้ ไปถึงวันแสดงปฐมเทศนา ๒ เดือนเต็ม (๖๐ วันพอดี)
- ระยะทางจากพุทธคยาไปสารนาถ ประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าอย่างมากก็ไม่เกิน ๑๐-๑๒ วัน
- ถ้าให้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์และต้นไม้ในปริมณฑลเพียง ๔ สัปดาห์ (๒๘ วัน) ก็จะเหลือเวลาอีกถึง ๓๒ วัน มากเกินไปสำหรับการเดินทางจากพุทธคยาไปสารนาถ แล้วจะให้พระพุทธองค์ไปอยู่ที่ไหน
- แต่ถ้าให้พระพุทธองค์อยู่ที่พุทธคยา ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) ก็เหลือเวลาเพียง ๑๑ วัน ซึ่งพอเหมาะพอดี สำหรับเดินทางจากพุทธคยาไปสารนาถ
(๒) ในจำนวน ๗ สัปดาห์นั้น พระอรรถกถาจารย์เกณฑ์ให้พระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรมด้วยมีความประสงค์และเหตุผลอย่างไร
อ่านความหมายระหว่างบรรทัดแล้ว คำตอบน่าจะเป็นดังนี้
- พระพุทธโฆษาจารย์ต้องการแสดงความเก่าแก่ของพระอภิธรรม ว่ามีมาตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว
- ถามว่าทำไมจึงต้องแสดงว่าพระอภิธรรมนั้นเก่าแก่ และเก่าแก่กว่าพระสูตรและพระวินัยด้วยซ้ำ คำตอบน่าจะเป็นด้วยว่า ในยุคสมัยของพระพุทธโฆษาจารย์ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอภิธรรมเป็นพัฒนาการยุคหลัง เลยเถิดไปถึงว่า พระอภิธรรมมิใช่พุทธพจน์รุนแรงมาก พระพุทธโฆษาจารย์ในฐานะเป็นพระสำนักพระอภิธรรม จึงต้องแสดงให้เห็นว่าพระอภิธรรมนั้นเป็นพุทธวจนะแน่นอน และมีมาก่อนพระสูตรและพระวินัยด้วยซ้ำ
- และเนื้อหาพระอภิธรรมเป็น ปรมัตถธรรม (ธรรมลึกซึ้ง) พระพุทธเจ้าทรงเลือกสอนเทวดา ดังสอนพระอินทร์และอดีตพุทธมารดา และเมื่อถ่ายทอดให้มนุษย์ฟัง ก็ทรงถ่ายทอดแก่บุคคลผู้มีปัญญาเฉียบแหลม เช่น พระสารีบุตร
- แต่ก็น่าสังเกตเหมือนกันว่า นิกายสรวาสติวาทะ นับถือพระอภิธรรมมาก มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "นิกายอภิธรรม" นิกายนี้กลับถือว่าพระอภิธรรม เป็น "เถรภาษิต" (ถือพระสารีบุตร และพระมหากัจจายนะเป็นปรมาจารย์)
(๓) อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าเชื่อ ทำไมไม่ทรงแสดงธรรมโปรด ในประเด็นนี้ คำตอบน่าจะเป็นดังต่อไปนี้
- ถ้าพิจารณาจากวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าแน่นอน การที่เขาสั่นศีรษะนั้นแล แสดงว่าเชื่อถือพระพุทธองค์ (ชาวอินเดียสั่นศีรษะ หมายถึงยอมรับ)
- คำโต้ตอบที่อุปกาชีวกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส = ดูก่อนท่านผู้มีอายุ คำที่ท่านพูดนั้น พึงเป็นไปได้ ก็ยืนยันเหตุผลนี้
- ถามว่า ถ้าเชื่อแล้ว เพราะเหตุไรพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงธรรมให้ฟัง และถ้าทรงแสดงธรรมให้ฟังอุปกาชีวกคงได้บรรลุธรรม ถ้าเช่นนั้นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะพลิกโฉมหน้าไปจากที่รับทราบกันหรือไม่ คำตอบก็น่าจะเป็นว่า เหตุที่ไม่ทรงแสดงธรรมโปรดอุปกาชีวก ก็คงเพราะต้องการโปรดปัญจวัคคีย์ก่อนใครอื่น
- ปัญจวัคคีย์เป็นศิษย์เก่า ปฏิเสธพระพุทธองค์ว่าการที่ทรงเลิกทุกรกิริยาไม่มีทางตรัสรู้แน่นอน เมื่อตรัสรู้แล้ว จึงทรงต้องการแก้ความเข้าใจผิดของปัญจวัคคีย์ จึงไม่สนพระทัยแสดงธรรมให้คนอื่น แม้ว่าถ้าทรงแสดง เขาอาจบรรลุธรรมได้ แต่ไม่ทรงประสงค์
- การที่ปัญจวัคคีย์ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ จะช่วยให้การเผยแผ่พระพุทธ-ศาสนาเป็นไปด้วยความราบรื่น และรวดเร็ว เพราะถ้าไม่โปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วไปแสดงธรรมแก่คนอื่น คนที่เขารู้ความเป็นมาก็จะตำหนิได้ว่า พระสมณะโคดมนั้น แม้ศิษย์ยังตีตัวออกห่าง ธรรมที่อ้างว่าได้ตรัสรู้นั้นจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร
- หรือไม่ปัญจวัคคีย์นั้นเอง ถ้ารู้ว่าพระพุทธองค์ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะ "ดิสเครดิต" พระองค์ได้ว่า อย่าไปเชื่อท่านผู้นี้ พวกเราอยู่ใกล้ชิดมาก่อน ย่อมรู้จักดี เขามิได้ตรัสรู้แต่ประการใด อย่างนี้เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือเหตุผล ที่ผู้อ่านอาจจะได้จากการพินิจพิจารณาจากบริบท ในพระไตรปิฎกตอนนี้ (แน่นอน คำตอบที่ได้ อาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับมุมมอง และวิธีคิดของผู้อ่านแต่ละคน แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไรก็ตาม ถ้ามีเหตุมีผลพอฟังได้ ก็สมควรรับฟัง)
(๔) อีกเรื่องหนึ่งคือ การที่พระพุทธเจ้าทันทีที่ทอดพระเนตรเห็น อุปติสสะมาณพ กับ โกลิตะมาณพ เดินเข้าพระเวฬุวันมา พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปแล้วตรัสบอกภิกษุสงฆ์ ที่เฝ้าอยู่ว่า "ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา"
ถามว่าเพราะเหตุไร สองคนนั้นยังไม่ได้บวชเลย พระองค์จึงจะทรงแต่งตั้งเป็นอัครสาวก ครั้นท่านทั้งสองบวชได้เพียง ๒ สัปดาห์ก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกเลย ทรงละเลยพระเถระผู้ใหญ่อื่น ๆ เช่น พระมหากัสสปะ พระอัญญาโกณฑัญญะไปหมด มิเป็นการเห็นแก่หน้าหรือ
คำตอบก็น่าจะหาได้จากความหมายระหว่างบรรทัดนั้นเอง เช่น
- ระยะนี้เป็นเวลาที่เริ่มประกาศพระพุทธศาสนา จะต้องเสนอแนวคิดใหม่ที่แตกต่างไปจากความเชื่อถือดั้งเดิม การจะทำงานประสบความสำเร็จ พระองค์จะต้องมี "มือ" สำคัญในการเผยแพร่คำสอน
- บุคคลที่จะเป็น "มือ" ทำงานได้สำเร็จ จะต้องเป็นผู้ที่รู้คำสอนดั้งเดิมของพวแกพราหมณ์ดี และมีวาทศิลป์ในการโต้แย้ง หักล้างพวกพราหมณ์ได้ หาไม่จะไม่มีทางกลับใจพวกพราหมณ์ให้มานับถือพระพุทธศาสนาได้
พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะนั้นเป็นพราหมณ์ผู้เรียนจบไตรเพทมาก่อน ทั้งยังได้จบการศึกษาทางปรัชญาลัทธิ "อมราวิกเขปิกา" จากสำนักของสัญชัย เวลัฏฐบุตรด้วย ย่อมมีความรู้ความสามารถที่จะโต้เถียงหักล้างพวกพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี เหมาะสมกว่าพระเถระผู้เฒ่าเช่นพระมหากัสสปะ และพระอัญญาโกณฑัญญะ (ผู้ซึ่งชอบชีวิตสงบ ถือธุดงควัตรมาก
กว่า) การที่ทรงแต่งตั้งพระหนุ่ม พรรษาน้อย เพื่อผลทางการทำงานการเผยแผ่พระศาสนา มากกว่าอย่างอื่น หาใช่ทรงเห็นแก่หน้าบุคคลไม่
๓. อ่านเพื่อประมวลคำตอบหลากหลายในประเด็นเดียวกัน
ในที่นี้หมายถึงว่า บางเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หรือหลักธรรม มีคำอธิบายหรือให้คำตอบหลายนัย เช่น มาร หมายถึงอย่างนี้ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ เราในฐานะผู้ศึกษาพระไตรปิฎกพึงประมวลคำตอบทุกนัยไว้ เพื่ออธิบายแก่ผู้ชักถามแล้วแต่กรณี
คำอธิบายนั้นอาจจะมาจาก (๑) พระไตรปิฎกอันเป็นพุทธวจนะโดยตรง หรือคำอธิบายของพระเถระสำคัญอื่น ๆ (๒) จากคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา (๓) จากมติของเกจิอาจารย์ หรือบุรพาจารย์อื่น ๆ ขอยกตัวอย่าง เหตุการณ์ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
ทันทีที่ประสูติ มีเทวดามารับ นำน้ำเย็นน้ำร้อนมาชำระพระวรกาย
พระกุมารทรงยืน ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ชูพระดรรชนีขึ้นฟ้า ประกาศอาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ประเสริฐในโลก เป็นใหญ่ในโลก นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป"
เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว (อรรถกถาเติมว่า ขณะเสด็จดำเนินมีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาทด้วย)
ปรากฏเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ อีกมาก
หน้าที่ของผู้ศึกษาก็คือ
(๑) สำรวจว่าเหตุการณ์นี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ถ้ามี มีทุกเรื่องหรือไม่ หรือบางเรื่องเติมภายหลัง ถ้าอ่านพระไตรปิฎกก็ทราบว่า มีบันทึกในพระไตรปิฎก ในรูปแห่งพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าด้วย มิใช่อรรถกถาแต่งขึ้น เพียงแต่บางอย่างเติมเข้ามา เช่น ดอกบัวผุดรองรับพระบาทไม่มีในพระดำรัสตรัสเล่า
(๒) เมื่อทราบดังนี้แล้ว ก็ดูต่อไปว่า ท่านอธิบายอย่างไร คือแปลความหมายไปกี่อย่าง ก็ทราบดังต่อไปนี้
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง หากเป็น "สัญลักษณ์" หรือ "บุพนิมิต" ดังทรงอธิบายว่า การที่เทวดามารับ แสดงว่า พระกุมารจะได้รับการยอมรับจากเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียง เช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส
- การที่เสด็จดำเนินไปทางทิศเหนือ แสดงว่า จะทรงอยู่เหนือ หรือเอาชนะความเห็นผิดต่าง ๆ ที่มีในยุคนั้น
- การที่ทรงชี้พระดรรชนีแล้วเปล่งอาสภิวาจา แสดงว่าจะได้ประกาศสัจธรรมที่ตรัสรู้แก่โลก
- การที่เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว แสดงว่า จะทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในแว่นแคว้นทั้ง ๗ (ซึ่งนับจริง ๆ เกิน ๗ พระองค์จึงจับคู่ นับสองแว่นแคว้นเป็นหนึ่ง เป็นต้น)
- เมื่อตรวจอรรถกถา และพระไตรปิฎก มีคำอธิบายคล้ายกัน คือ ท่านกล่าวว่า เหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นเป็น "ธรรมดาของพระโพธิสัตว์" มิใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์ หรือ อิทธิปาฏิหาริย์แต่อย่างใด พระโพธิสัตว์มี ๒ ชนิดคือ (๑) อนิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่บารมียังไม่สมบูรณ์ยังไม่แน่นอนว่าจะตรัสรู้เมื่อใด และ (๒) นิยตโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมจะตรัสรู้ในไม่ช้า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทที่ ๒ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระโพธิสัตว์ เป็นปรากฏการณ์โดยธรรมชาติ มิใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด
พูดอีกนัยหนึ่ง การพูดได้ เดินได้ ทันทีหลังจากประสูติ เป็นของธรรมดาสำหรับพระโพธิสัตว์ เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้จริง ไม่ผิดปกติและไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์แต่อย่างใด ดุจดังการที่นกบินได้ หรือการที่ปลาอยู่ในน้ำได้ทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจและไม่ขาดใจตาย เป็น "ธรรมดา" ของนกและปลา มิใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด
ยังมีอีกหลายเรื่อง หลายประเด็น ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกแล้ว พยายามหาความหมายระหว่างบรรทัดจะได้รับความรู้และได้คำตอบที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย
๔. อ่านและตีความจากภูมิหลังของตน
หมายถึงเอาภูมิหลังของตนเองมาเป็นสื่อ หรือเครื่องมือ ทำความเข้าใจพระไตรปิฎก เข้าใจสาขาวิชาการของตนเพิ่มขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ เช่น
พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจ พระพุทธศาสนากับประชาธิปไตย พระพุทธศาสนากับจิตวิเคราะห์ เสรีภาพในทรรศนะพระพุทธศาสนา พุทธศึกษากับปรัชญา ครูในอุดมคติตามแนวพระพุทธศาสนา อุดมรัฐตามแนวพุทธศาสนา ฯลฯ เราผู้อ่านมีภูมิหลังในด้านใด อาจนำเอาแนวคิด เอาทฤษฎีในด้านนั้นมาจับพระไตรปิฎก แล้วเสนอออกมาเป็นทรรศนะพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จะทำให้
(๑) ได้ความรู้ใหม่ อีกมิติหนึ่ง เกี่ยวกับสาขาวิชาการที่ท่านเล่าเรียนมา
(๒) ช่วยเสนอแนวทางอธิบายพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากที่พระเณรเคยเรียนเคยสอนกันมา ตลอดถึงวิธีการปรับ ประยุกต์ใช้ให้สมสมัยอีกด้วย และ
(๓) จะพบความสนุกสนานในการอ่านพระไตรปิฎก ไม่เบื่อ ไม่เซ็ง
top