ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

ความงามของพระพุทธวจนะความลาดลุ่มลึกแห่งพุทธธรรม


จำนงค์ ทองประเสริฐ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 245 - 252

หลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพัมพุทธเจ้านั้นมีความลาดลุ่มลึกเป็นอัศจรรย์ดุจห้วงมหาสมุทร เหมาะสมแก่สติปัญญาของคนทุกระดับ ยิ่งผู้ที่มีพื้นความรู้และจิตใจสูงส่ง ยิ่งสามารถเข้าใจพระพระพุทธศาสนาได้มากเป็นอัศจรรย์ เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเป็น "สัจธรรม" ที่เที่ยงแท้ทนต่อการพิสูจน์ เป็นสัจธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เพราะความจริงโดยทั่ว ๆ ไปนั้น อาจเป็นความจริงเพียงเฉพาะกาลเวลาเท่านั้น พอเวลาล่วงไปเพียง ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี เท่านั้น สิ่งที่เราเคยคิดว่าจริงก็กลายเป็นเท็จไป เพราะนั่นมิใช่ "ความจริงแท้" หากเป็นความจริงโดยสมมติเท่านั้น ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า "เท็จ" เราก็ต้องยอมรับว่า "จริง" อยู่ตราบนั้น แต่เมื่อใดเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า "ไม่จริง" เมื่อนั้นความจริงนั้นก็กลายเป็น "เท็จ" ไป
ที่ว่าคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีลักษณะลาดลุ่มลึกดุจห้วงมหาสมุทรนั้น พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับอสูรชื่อ "ปหาราทะ" ดังปรากฏอยู่ใน "ปหาราทสูตร" ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ดังนี้
"สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเรฬุยักษ์สิงสถิตอยู่ ใกล้เมืองเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท้าวปหาราทะจอมอสูรว่า "ปหาราทะ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ?" ท้าวปหาสาทะจอมอสูรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร"
พระผู้มีพระภาค..."ปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏสักเท่าไรที่พวกอสูรเห็นแล้วย่อมภิรมย์"
ปหาราทะ... "มี ๘ ประการ พระพุทธเจ้าข้า ๘ ประการอะไรบ้าง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึก ลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ นี้เป็นธรรมที่นำอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมเสมอ ไม่ล้นฝั่งนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ และในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกทันทีนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม้น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็มนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แกวไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกตนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือ?"
พระผู้มีพระภาค ... "ปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในพระธรรมวินัยนี้"
ปหาราทะ... "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏสักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่"
พระผู้มีพระภาค "มีอยู่ ๘ ประการ ปหาราทะ ๘ ประการเป็นไฉน? ปหาราทะ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึก ลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหวฉันใด ในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่า จะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง ปหาราทะ ข้อที่ในพระธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่จะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรงนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่งฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอ เสียแล้วทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าหางไกลจากสงฆ์ พระสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา ปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดความชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียแล้วทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้นเขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขานี้เป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในพระธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณะศากยบุตรทั้งนั้น ปหาราทะ ข้อที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณะศากยบุตรทั้งนั้นนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม เพราะน้ำนั้น ๆ ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น ปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม ด้วยภิกษุนั้นนี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรมีรสเดียว คือรสเค็ม ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน พระธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส ปหาราทะ ข้อที่พระธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรสนี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมอนกัน พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในพระธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ปหาราทะ ข้อที่พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในพระธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมนี้น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในพระธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน พระธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ สิ่งมีชีวิตในพระธรรมวินัยนี้มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ปหาราทะ ข้อที่พระธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ สิ่งที่มีชีวิตในพระธรรมวินัยนี้ มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในพระธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่"
จากการสนทนาระหว่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปหาราทะ จอมอสูรนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเห็น "คล้อยตาม" มิใช่ "ขัดแย้ง" ต่อความคิดเห็นของคู่สนทนาเลย เป็นการสนทนาอย่างมี "มิตรภาพ" ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาอันล้นพ้น พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ปหาราทะ จอมอสูรได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความอัศจรรย์ของมหาสมุทรก่อน ซึ่งปหาราทะจอมอสูรได้กราบทูลว่า มหาสมุทรมีความน่าอัศจรรย์รวม ๘ ประการด้วยกัน และเมื่อปหาราทะจอมอสูรทูลถามพระองค์บ้างว่า ในพระธรรมวินัยนี้มีอะไรที่น่าอัศจรรย์บ้าง พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่าในพระธรรมวินัยนี้ก็มีความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการเช่นนั้น พระองค์มิได้ทรง "กล่าวข่ม" ว่าในพระธรรมวินัยนี้ มีความน่าอัศจรรย์ ๙-๑๐ ประการ ให้มากไปกว่าความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการของมหาสมุทรที่ปหาราทะจอมอสูรได้กราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถึงความน่าอัศจรรย์ของพระธรรมวินัยว่า ก็มี ๘ ประการเหมือนกัน และทรงเปรียบเทียบกับความน่าอัศจรรย์ของมหาสมุทรในลักษณะคล้าย ๆ กันเป็นคู่ไป นับว่าพระพุทธองค์ทรงใช้จิตวิทยาและทรงมีพระพุทธปฏิภาณ ที่ยากจะหาผู้ใดในโลกเสมอเหมือน
การที่จะเป็นนักประกาศพุทธธรรมที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องมีความรอบรู้ใน "พุทธธรรม" อย่างลึกซึ้งแล้ว ยังจะต้องมีปฏิภาณ ไหวพริบที่เฉียบแหลม สามารถโต้ตอบคู่สนทนาได้อย่างฉับพลันด้วย และที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือต้องพยายามก่อให้เกิดความรู้สึกฉันมิตรแก่คู่สนทนาด้วย

top