ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

แก่นธรรมในสังยุตตนิกาย


พระสุธีวรญาณ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 145 - 156

๑. สังยุตตนิกาย คืออะไร
สังยุตตนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕-๑๙ รวม ๕ เล่ม คือ ชุมนุมพระสูตรที่จัดเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า สังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม ๕๖ สังยุต มีพระสูตร(เท่าที่ปรากฏ) จำนวน ๒,๗๕๒ สูตร (อรรถกถาพระวินัยว่า มี ๗,๗๖๒ สูตร วิ.อ. ๑/๑๗)
๒. ส่วนประกอบของสังยุตตนิกาย
สังยุตตนิกายแบ่งเป็นวรรคใหญ่ๆ ๕ วรรค คือ
๑. สคาถวรรค (เล่มที่ ๑๕) เป็นวรรคที่รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่าง เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุต คือ

๑.๑
เทวตาสังยุต
-ประมวลเรื่องเทวดา เป็นการสนทนาธรรมระหว่าง เทวดากับพระพุทธเจ้า มี ๘๑ สูตร
๑.๒
เทวปุตตสังยุต
- ประมวลเรื่องเทพบุตร เป็นการสนทนาธรรมระหว่างเทพบุตรกับพระพุทธเจ้า มี ๓ สูตร
๑.๓
โกศลสังยุต
- ประมวลเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นการสนทนาธรรมระหว่างพระผู้มีพระภาค กับพระเจ้าปเสนทิโกศล มี ๒๕ สูตร
๑.๔
มารสังยุต
- ประมวลเรื่องมาร เป็นการโต้ตอบระหว่างมารกับพระพุทธเจ้า มี ๒๕ สูตร
๑.๕
ภิกษุณีสังยุตต
- ประมวลเรื่องภิกษุณี เป็นข้อโต้ตอบระหว่างมารกับภิกษุณี มี ๑๐ สูตร
๑.๖
พรหมสังยุต
- ประมวลเรื่องพรหมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือเข้า พบพระสาวกเพื่อสนทนาธรรมกัน มี ๑๕ สูตร
๑.๗
พราหมณสังยุต
- ประมวลเรื่องพราหมณ์ เป็นการสนทนาธรรมระหว่างพราหมณ์กับพระผู้มีพระภาค มี ๒๒ สูตร
๑.๘
วังคีสสังยุต
- ประมวลเรื่องพระวังคีสะ เป็นการสนทนาธรรมระหว่างพระวังคีสะ กับพระพุทธองค์บ้าง กับเพื่อนพรหมจารีบ้าง มี ๑๒ สูตร
๑.๙
วนสังยุต
- ประมวลเรื่องป่า เป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับภิกษุผู้อยู่ในป่า มี ๑๔ สูตร
๑.๑๐
ยักขสังยุต
- ประมวลเรื่องยักษ์ที่เข้าไปสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า มี ๑๒ สูตร
๑.๑๑
สักกสังยุต
- ประมวลเรื่องเกี่ยวกับท้าวสักกะจอมเทพในดาวดึงส์ผู้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า มี ๒๕ สูตร
๒. นิทานวรรค เล่มที่ ๑๖ เป็นวรรคที่ว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาทเสียครึ่งเล่ม นอกนั่นก็ว่าด้วยเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น มี ๑๐ สังยุต คือ

๒.๑ นิทานสังยุต - ประมวลเรื่องเกี่ยวกับธรรมที่เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดและการดับทุกข์ ตามวงจรปฏิจจ-สมุปบาท มี ๑๔๔ สูตร
๒.๒ อภิสมยสังยุต - ประมวลเรื่องการตรัสรู้ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่าต่อสรรพสัตว์ มี ๑๑ สูตร
๒.๓ ธาตุสังยุต - ประมวลเรื่องธาตุ แสดงธาตุ และความแตกต่างแห่งธาตุทั้งหลาย มี ๓๙ สูตร
๒.๔ อนมตัคคสังยุต - ประมวลเรื่องสังสารวัฏ อันมีเบื้องต้นและ เบื้องปลายรู้ไม่ได้ มี ๒๐ สูตร
๒.๕ กัสสปสังยุต - ประมวลเรื่องพระมหากัสสปะ อันแสดงคุณธรรมและการประพฤติปฏิบัติของท่าน มี ๑๓ สูตร
๒.๖ ลาภสักการสังยุต - ประมวลเรื่องเกี่ยวกับลาภสักการะและความสรรเสริญ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสิ่งทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย และเป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรม มี ๔๓ สูตร
๒.๗ ราหุลสังยุต - ประมวลเรื่องพระราหุล ซึ่งทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับขันธ์ ๕ เป็นต้น มี ๒๒ สูตร
๒.๘ ลักขณสังยุต - ประมวลเรื่องเกี่ยวกับพระลักษณะ ซึ่งถามปัญหาเรื่องเปรตชนิดต่างๆ มี ๒๑ สูตร
๒.๙ โอปัมมสังยุต - ประมวลเรื่องเกี่ยวกับการเปรียบเทียบ เป็น การแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ด้วยการเปรียบเทียบเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเข้าใจ และเห็นแจ่มแจ้ง มี ๑๒ สูตร
๒.๑๐ ภิกขุสังยุต - ประมวลเรื่องเกี่ยวกับภิกษุ ที่เป็นแบบอย่างที่ดี แก่ภิกษุทั้งหลาย มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้น มี ๑๒ สูตร
๓. ขันธวารวรรค (เล่มที่ ๑๗) เป็นวรรคที่ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่องสมาธิ และทิฏฐิต่าง ๆ ปะปนอยู่บ้าง มี ๑๓ สังยุต คือ

๓.๑

ขันธสังยุต

-ประมวลเรื่องขันธ์ เป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ และธรรมที่เกี่ยวข้องกับขันธ์เหล่านี้ มี ๑๕๙ สูตร

๓.๒

ราธสังยุต

-ประมวลเรื่องพระราธะ เป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับพระราธะ มี ๔๖ สูตร

๓.๓

ทิฏฐิสังยุต

- ประมวลเรื่องทิฏฐิ อันเป็นที่รวบรวมพระสูตรที่เกี่ยวกับทิฏฐิ และลัทธิต่างๆ มี ๙๖ สูตร

๓.๔

โอกกันตสังยุต

-ประมวลเรื่องผู้ก้าวลงสู่อริยมรรค คือพระโสดาบัน มี ๑๐ สูตร

๓.๕

อุปปาทสังยุต

-ประมวลเรื่องความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ อันก่อให้เกิดความทุกข์ มี ๑๐ สูตร

๓.๖

กิเลสสังยุต

-ประมวลเรื่องกิเลส รวมพระสูตรที่เกี่ยวกับกิเลส มี ๑๐ สูตร

๓.๗

สารีปุตตสังยุต

-ประมวลเรื่องพระสารีบุตร รวมพระสูตรที่เกี่ยวกับท่านพระสารีบุตร มี ๑๐ สูตร

๓.๘

นาคสังยุต

-ประมวลเรื่องนาค เป็นการรวมพระสูตรที่เกี่ยว กับนาค กำเนิดนาค เหตุที่ทำให้เกิดเป็นนาค มี ๕๐ สูตร

๓.๙

สุปัณณสังยุต

-ประมวลเรื่องครุฑ เป็นการรวมเอาพระสูตรเกี่ยวกับครุฑ กำเนิดของครุฑ เหตุที่ทำให้เกิดเป็นครุฑ เป็นต้น มี ๔๖ สูตร

๓.๑๐

คันธัพพกายสังยุต

-ประมวลเรื่องเทพที่นับเนื่องอยู่ในหมู่คันธัพพเทพ มี ๑๑๒ สูตร

๓.๑๑

วลาหกสังยุต

- ประมวลเรื่องเทพวลาหก (ผู้ทำให้เกิดเมฆ) มี ๕๗ สูตร

๓.๑๒

วัจฉโคตตสังยุต

-ประมวลเรื่องวัจฉโคตตปริพพาชก ซึ่งชอบ ทูลถามพระพุทธเจ้าด้วย อันตคาหิกทิฏฐิ (ความเห็นที่ยึดถือที่สุด) มี ๕๕ สูตร

๓.๑๓

ฌานสังยุต

- ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับฌาน ประเภทต่างๆ และวิธีปฏิบัติในฌาน (สมาธิ) มี ๕๕ สูตร

๔. สฬายตนวรรค (เล่มที่ ๑๘) เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์เรื่องอื่นมีเบญศีล ข้อปฏิบัติให ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น มี ๑๐ สังยุต คือ

๔.๑ สฬายตนสังยุต -ประมวลเรื่องอายตนะ ๖ เป็นการรวมพระสูตรที่เกี่ยวกับอายตนะภายใน ๖ อายตนะ ภายนอก ๖ และธรรมที่เกี่ยวข้องกับอายตนะเหล่านี้ มี ๒๔๘ สูตร
๔.๒ เวทนาสังยุต -ประมวลเรื่องเวทนา เป็นการรวมพระสูตรที่เกี่ยวกับเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข) ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์) อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์ก็ไม่ใช่สุขก็ไม่ใช่) และเวทนาทางใจ (ความรู้สึกทางใจ) มี ๓๑ สูตร
๔.๓ มาตุคามสังยุต -ประมวลเรื่องมาตุคาม เป็นการรวบรวมพระสูตรที่เกี่ยวกับลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ ความปรารถนา และคติธรรมของมาตุคาม มี ๓๔ สูตร
๔.๔ ชัมพุขาทกสังยุต -ประมวลเรื่องชัมพุขาทกปริพาชก ที่ถามปัญหากับพระสารีบุตร มี ๑๖ สูตร
๔.๕ สามัณฑกสังยุต - ประมวลเรื่องสามัณฑกปริพาชก ที่ถามปัญหากับพระสารีบุตร มี ๒ สูตร
๔.๖ โมคคัลลานสังยุต -ประมวลเรื่องพระโมคคัลลานะ มี ๑๑ สูตร
๔.๗ จิตตสังยุต -ประมวลเรื่องจิตตคหบดี เป็นการรวบรวมพระสูตรที่เกี่ยวกับจิตตคหบดี ชาวเมืองมัจฉิกาสณฑ์ แคว้นกาสี มี ๑๐ สูตร
๔.๘ คามณิสังยุต -ประมวลเรื่องผู้ใหญ่บ้าน เป็นการรวบรวมพระสูตรที่เกี่ยวกับผู้ใหญ่บ้าน มี ๑๓ สูตร
๔.๙ อสังขตสังยุต -ประมวลเรื่องอสังขตธรรม (ซึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้) ได้แก่ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ และธรรมที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ที่เป็นไวพจน์ของนิพพาน มี ๔๔ สูตร
๔.๑๐ อัพยากตสังยุต - ประมวลเรื่องอัพยากตปัญหา คือปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ มี ๑๑ สูตร
๕. มหาวารวรรค (เล่มที่ ๑๙) เป็นวรรคที่ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรคมีองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ สัมมัปปธาน ๔ พละ ๕ อิทธิบาท ๔ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล มี ๑๒ สังยุต คือ

๕.๑ มัคคสังยุต - ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับอริยมรรค มีองค์ ๘ มี ๑๘๑ สูตร
๕.๒ โพชฌงคสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี ๑๘๔ สูตร
๕.๓ สติปัฏฐานสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ มี ๑๐๔ สูตร
๕.๔ อินทรียสังยุต - ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับอินทรีย์ ๒๒ มี๑๑๔ สูตร
๕.๕ สัมมัปปธานสังยุต -ประมวล เรื่องสัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) ๔ ประการ คือ เพียรระวัง เพียรละ เพียรเจริญ และเพียรรักษา มี ๔๔ สูตร
๕.๖ พลสังยุต - ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับพละ ๕ มี ๕๖ สูตร
๕.๗ อิทธิบาทสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับอิทธิบาท (คุณธรรม ที่นำไปสู่ความสำเร็จ) ๔ มี ๕๔ สูตร
๕.๘ อนุรุทธสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับท่านอนุรุทธะ มี ๒๔ สูตร
๕.๙ ฌานสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับฌาน ๔ มี ๒๒ สูตร
๕.๑๐ อานาปานสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับอานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก) ๑๖ ขั้น มี ๒๐ สูตร
๕.๑๑ โสตาปัตติสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับการถึงกระแสธรรม คือองค์เครื่องบรรลุพระโสดาบัน มี๗๔ สูตร
๕.๑๒ สัจจสังยุต -ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับอริยสัจจ์ ๔ ประการ มี ๑๓๑ สูตร

แก่นธรรมในสังยุตตนิกาย
สิ่งที่เรียกว่า “แก่น” หรือ “หัวใจ” ของธรรมในสังยุตตนิกายทั้ง ๕ เล่ม พอจะประมวลได้ดังนี้
๑. การคลายสงสัย ข้อนี้แสดงไว้ชัดในสคาถวรรค แสดงถึงมนุษย์หรือเทวดาในกระแสโลก (โลกียะ) ย่อมจะเต็มไปด้วยความสงสัย เรียกว่า พวกกถังกถี ชอบถามปัญหา บางพวกก็ประเภท สู่รู้ อวดรู้ พระพุทธองค์และพระสาวกซึ่งอยู่ในสภาวะที่อยู่เหนือกระแส (โลกุตตระ) จึงเป็นผู้ตอบปัญหาได้ชัด เพราะตัดความสงสัยได้แล้ว จึงเรียกว่า พวกอกถังกถี (ไม่มีปัญหา) ตัวอย่างเทวดาสงสัยถามว่า
หมู่สัตว์ยุ่งทั้งภายใน ยุ่งทั้งภายนอก ถูกความยุ่งพาให้นุงนังแล้ว ท่านพระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า ใครจะแก้ความยุ่งนี้ได้ ?”
พระพุทธองค์ตอบว่า
"นรชนผู้มีปัญญา เห็นภัยในสังสารวัฏ ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญจิตและปัญญามีความเพียรมีปัญญาเครื่องบริหารนั้นพึงแก้ความยุ่งนี้ได้" (สํ.ส. ๑๕/๒๓/๒๐ มจร.)
๒. กระแสเกิดและดับ ได้แก่ กระแสธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎปัจจยาการหรืออิทัปปัจจยตา

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

เป็นการแสดงปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์ และสายดับทุกข์ ๒ แนว ดังนี้
ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น

สายดับทุกข์
สายเกิดทุกข์
สายดับทุกข์
สายเกิดทุกข์
ดับ
เกิด
ขยญาณ
อวิชชา
e
e
A
e
อวิชชา
อวิชชา
วิมุตติ
สังขาร
e
e
a
e
สังขาร
สังขาร
วิราคะ
วิญญาณ
e
e
a
e
วิญญาณ
วิญญาณ
นิพพิทา
นามรูป
e
e
a
e
นามรูป
นามรูป
ยถาภูตญาณทัสสนะ
สฬายตนะ
e
e
a
e
สฬายตนะ
สฬายตนะ
สมาธิ
ผัสสะ
e
e
a
e
ผัสสะ
ผัสสะ
สุข
เวทนา
e
e
a
e
เวทนา
เวทนา
ปัสสัทธิ
ตัณหา
e
e
a
e
ตัณหา
ตัณหา
ปีติ
อุปาทาน
e
e
a
e
อุปาทาน
อุปาทาน
ปราโมทย์
ภพ
e
e
a
e
ภพ
ภพ
ศรัทธา
ชาติ
e
e
a
e
ชาติ
ชาติ
ทุกข์
e
e
ทุกข์
(สํ.นิ.(แปล ๑๖/๑/๑ มจร.)
(สํ.นิ.(แปล) ๑๖/๒๓/๔๐ มจร.)
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท (ม.มู. ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)
๓. วิเคราะห์ขันธ์ วิเคราะห์คน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ได้บอกให้เรารู้จักวิเคราะห์ขันธ์ ๕ การเข้าใจขันธ์ ๕ ดี ก็คือการเข้าใจคนดี ดังคำของนางวชิราภิกษุณีที่ว่า
“เพราะรวมองค์สัมภาระทั้งหลายเข้า คำว่า รถ ย่อมมีฉันใด เพราะรวมขันธ์ทั้ง ๕ เข้า การสมมุติว่า เป็น สัตว์ (คน) ก็มีฉันนั้น”
ท่านจึงให้วิเคราะห์ขันธ์ ๕ ให้ดี ก็จะเห็นว่ารูปนั้น เป็นดุจกลุ่มฟองน้ำ ในขณะที่เวทนาเป็นดุจฟองน้ำที่เกิดจากฝนตก เกิดและดับไปบนผิวน้ำ สัญญาเป็นดุจพยับแดด สังขารเป็นดุจต้นกล้วยที่ไร้แก่น วิญญาณเป็นดุจมายากล ที่นักมายากลแสดง ควรเห็นการเกิดและความดับของขันธ์ เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดอันนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลส
๔. มีสติปัญญาที่ข้อต่อ สฬายตนวรรคแสดงให้เห็นอิทธิพลของการกระทบ (ผัสสะ) ระหว่างข้อต่อภายนอกกับภายใน เรียกว่า อายตนะ ถ้าปล่อยให้ “ตัวกู” “ของกู” เกิด ก็จะเกิดทุกข์ แต่ถ้าไม่ให้ “ตัวกู” “ของกู” เกิด ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ เขาก็ไม่เกิดทุกข์ ดังนั้น ทางเลือก จึงมี ๒ คือ
สักกายทิฏฐิสมุทยคามินีปฏิปทา แนวทางปฏิบัติที่ให้ ตัวกู ของกู เกิดจนจิตวุ่นสักกายทิฏฐินิโรธคามินีปฏิปทา แนวปฏิบัติที่ไม่ให้ ตัวกู ของกู เกิดขณะเกิดผัสสะ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องกับสิ่งที่มากระทบ และใจกระทบกับธรรมารมณ์ จิตจึงสงบเย็น ไม่วุ่น ท่านจะเลือกทางไหน ?
๕. ไม่ย่อท้อใฝ่โพธิญาณ คนเราที่ไม่ถึงเป้าหมายรวดเร็ว เพราะเราเดินทาง ไม่ถูก พระพุทธองค์ได้ตรัสโพธิปักขิยธรรม ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ก็เพื่อให้เราเดินทางถูก และเดินทางสะดวก ถึงอาสวักขยญาณ หรือ โพธิญาณโดยเร็ว
เริ่มแต่เจริญสติปัฏฐานให้ต่อเนื่อง มีความเพียรสม่ำเสมอดุจสายพิณที่ไม่ตึงไม่หย่อน มีความใฝ่รู้ใฝ่คิด ทำจริง คิดรอบครอบ ก็จะเกิดความสำเร็จ ในขณะเดียวกัน ก็พัฒนา พลังอินทรีย์ของตัวเองให้เจริญเต็มที่ทั้งด้านศรัทธา - ความเพียร-สติ - สมาธิ - และปัญญา จากนั้น ใช้โพชฌงค์เป็นเครื่องมือในการวิจัยธรรมจนเห็นแจ้ง ตามหลักมรรคมีองค์ ๘ คือ เห็นถูก คิดถูก พูดถูก การงานถูก อาชีพถูก พยายามถูก มีสติระลึกถูก และมีสมาธิถูก แก่นธรรมเหล่านี้ย่อมจะช่วยส่งให้เรามีจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม ญาณ คือความรู้แจ้ง ปัญญาความรอบรู้ทันอารมณ์ มีวิชชาชั้นสูงในตนเอง มีแสงสว่างส่องใจ ให้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกอยู่เสมอ นี่คือแก่นธรรมในสังยุตตนิกาย

หนังสือประกอบการเรียบเรียง
๑. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เล่มที่ ๑๕–๑๙, สังยุตตนิกาย, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
๒. พระธรรมปิฎก, (ป. อ. ปยุตฺโต), พุทธธรร, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.
๓. พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘.
๔. พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ), พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ , กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.

top