หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
มหาวิทยาลัยนาลันทา
 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๑๘ - ๒๓


(๑) การเข้าศึกษา ห้องสมุด การเรียนการสอน และการวัดผล
นาลันทามีระบบการรับนิสิตโดยการสอบคัดเลือกเข้าศึกษา (entrance) ผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต้องมีพื้นความรู้ดี ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้นจะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้ามาเป็นเวลานานและต้องมีความรู้พื้นฐานทางศาสนาและปรัชญาเป็นอย่างดี บุคคลซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการสอบเข้า คือ นายทวารปาละ (keeper of the gate) หรือทวารบัณฑิต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการซักถามโต้ตอบ
ผู้มาจากถิ่นไกลในทิศทั้ง ๔ ประสงค์จะเข้าเรียน นายทวารปาละ จะถามคำที่ยากมาก หลายคนไม่สามารถตอบได้และต้องออกไป (retire) ผู้ประสงค์จะสอบต้องเตรียมตัวให้พร้อม แสดงความสามารถโดยอภิปรายโต้ตอบประเด็นที่ยาก มีระบบการสอบที่เคร่งครัดตั้งแต่ต้นอย่างนี้ ผู้มาสมัครสอบเข้าใน ๑๐ คน จะสอบเข้าได้ประมาณ ๗ คน (๗๐ เปอร์เซ็นต์) หรือบางยุคใน ๑๐ คนจะสอบเข้าได้เพียง ๓ คนเท่านั้น (๓๐ เปอร์เซ็นต์)
มหาวิทยาลัยนาลันทามีห้องสมุด ห้องเรียน และห้องสัมมนาพร้อม โดย เฉพาะห้องสมุดนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ แสดงถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างมหาวิทยาลัยของคนโบราณ ตำนานทิเบตกล่าวถึงตึกหอสมุดของนาลันทาว่า๒๔
เป็นอาคารหลายหลัง แต่ละหลังมีหลายชั้น ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า ธรรมคัญชะ (Dharmganja) ในจำนวนอาคารทั้งหมดนั้น อาคาร ๓ หลัง มีชื่อไพเราะดังนี้ (๑) รัตโนทธิ-Sea of jewels (๒) รัตนสาคร-Ocean of jewels (๓) รัตนรัญชกะ-Jewel-adorned ทั้งหมดตั้งอยู่ในกลุ่ม อาคาร ๙ ชั้น (accommodated in nine-storeyed buildings)


วิเคราะห์จากข้อมูลนี้ ทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของผู้บริหารแห่งนาลันทาอย่างชัดเจน ความจริงที่ได้ประการหนึ่งคือ ผู้บริหารการศึกษาทุกยุคสมัยเห็นพ้องกันว่า ห้องสมุดคือหัวใจของการศึกษา
วิธีการเรียนการสอน คือ หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษา และนิสิตได้รับการอุปสมบทแล้ว ต้องจ่ายค่าเรียน (ทักษิณา) ซึ่งเป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ แก่อาจารย์ ๒ ท่าน คือ พระอุปัชฌาย์และกรรมวาจาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ศึกษาเรื่องศีล อาบัติ และเนื้อหาในพระปาติโมกข์ เมื่อเชี่ยวชาญแล้วจึงศึกษาพระวินัยปิฎก มีการทดสอบทุกเช้า ต่อจากนั้นจึงศึกษาสูตรและศาสตร์ ปรัชญา พระอุปัชฌาย์ และกรรมวาจาจารย์อยู่ในฐานะเป็นบิดามารดา**
การวัดผล คงเน้นการสอบสัมภาษณ์เหมือนการสอบเข้า ความจริงก็คือ นาลันทาจัดการศึกษาในระดับสูง (higher studies) เป็นแหล่งการเรียนรู้และสัมมนาในระดับสูง(seats and seminar of higher learning) เน้นการศึกษาในระดับหลังปริญญาตรี(post-graduate course) ถือว่าเป็นแหล่งชุมนุมของนักปราชญ์ที่ดีเด่นดัง (eminent and accomplished) ทั้งหมดมาที่นาลันทาเพื่อศึกษาชั้นสูง ๒ หรือ ๓ ปีเพื่ออภิปรายทฤษฎี/หลักการ (doctrines) ทั้งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาซึ่งยากเหลือเกิน (solid learning) จะต้องมีความสามารถ พิเศษจริงๆ (conspicuous talent) เช่น ท่านธรรมปาละ และจันทรปาละ ท่าน คุณมติและสถิรมติ ท่านประภามิตรและ ชินมิตร เป็นต้น***
ความจริง ในกระบวนการเรียนการสอนที่นาลันทาอาจจะแบ่งเป็นหลายรูปแบบ เพราะหลักฐานบางแห่งไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดระยะเวลาการศึกษาไว้ ขึ้นอยู่กับนิสิตเองว่าจะศึกษาประมาณเท่าไร และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการให้ปริญญาหลังจบการศึกษาหรือไม่*

(๒) วิชาที่สอน และการจัด หลักสูตร

วิชาที่จัดสอนในมหาวิทยาลัยนาลันทา เน้นหนักใน ๕ สาขา เรียกว่า ปัญจวิทยา (Five Vidyas) คือ๒๕
๒.๑ อัธยาตมวิทยา วิชาศาสนา ปรัชญา
๒.๒ เหตุวิทยา วิชาตรรกศาสตร์
๒.๓ ติกิจฉาวิทยา วิชาแพทย์
๒.๔ ศัพทวิทยา วิชาอักษรศาสตร์
๒.๕ ศิลปวิทยา วิชาศิลปกรรม
หลักฐานบางแห่งบอกว่า สมณะ เฮี่ยนจั๋งศึกษาอยู่ที่นาลันทา ๕ ปี ศึกษาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเรื่องพรหมัน ศึกษาวิชาเฉพาะสาขากับท่านศีลภัทระผู้เป็นอธิการบดี(Chancellor) คือ โยคศาสตร์ นยายอนุสารศาสตร์ เหตุวิทยาศาสตร์ ศัพทวิทยา วยากรณะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น โกษะ วิภาษาและอื่นๆ จุดประสงค์ของการศึกษา ลักษณะวิชาเหล่านี้ก็เพื่อเผยแผ่พระศาสนา ในหมู่คฤหัสถ์และอภิปรายโต้แย้งเชิงปรัชญา
การจัดหลักสูตร เน้นให้มีขอบข่ายนื้อหาครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งหมดที่เป็นภูมิปัญญาของประเทศ ดึงเอาองค์ความรู้จากหลากหลายสาขามารวมอยู่ด้วยกัน แบ่งกลุ่มเป็นพราหมณศึกษา พุทธศาสนศึกษา ศาสนศึกษา โลกิยศึกษา ปรัชญา ปฏิบัติ ศาสตร์และศิลป์ สมณะเฮี่ยนจั๋งและสมณะอี้จิงซึ่งเคยศึกษาอยู่ที่นาลันทา บันทึกไว้พอเป็นข้อมูลว่า
ศึกษามหายานและงานเขียนอื่นๆ ของ ๑๘ นิกาย ไม่เพียงแต่เท่านั้น งาน ทั่วไปๆ เช่น พระเวทและหนังสืออื่นๆ เหตุวิทยา ศัพทวิทยา จิกิตสวิทยา (อายุร เวท) อาถรเวท สางขยะ และวิเคราะห์งานปกิณณกะ วิชาปรัชญา กฎหมาย ดาราศาสตร์ อัษฏาธยายีของปาณินิ(ปาณินียะ ไวยากรณ์) งานหีนยานสำนักสรวาสติวาท ปราณยมูลศาสตร์ฏีกา(งานมหายานสำนักมาธยมิกะ) ศตศาสตร์ของอารยเทพ โกศะ วิภาษา ศตปทาภิธรรมศาสตร์ เป็นต้น*

(๓) วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในสังกัด ผู้บริหารและนิสิต

นาลันทามีอาณาบริเวณและโครงสร้างทางกายภาพกว้างขวาง มีสถานะเป็นศูนย์ใหญ่ (central monastery) มีมหาวิทยาลัย สถาบันหรือวิทยาลัยในสังกัดจำนวนมาก คำว่า สถาบันหรือวิทยาลัย ในยุคนั้นเรียกว่า วิหาร มีคณะกรรมการบริหารสถาบันหรือวิทยาลัย เรียกว่า สังฆะ ส่วนคำว่า มหาวิทยาลัย เรียกว่า มหาวิหาร
วิทยาลัยในสังกัดนาลันทามีไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง ซึ่งบางวิทยาลัยมีผู้ศรัทธาจากถิ่นไกลมาสร้างไว้ เช่น สุวรรณ-ชวาภูมิวิทยาลัย ซึ่งสร้างโดยพาลปุตรเทวะแห่งสุวรรณทวีป (สุมาตรา-ชวา) เป็นวิทยาลัยสำหรับนิสิตผู้มาจากถิ่นไกล แต่ละวิทยาลัยมีคณะกรรมการบริหาร ดูแลทางด้านบริหารและวิชาการ มีตราสัญลักษณ์ประจำของตนเอง ส่วนมหาวิทยาลัยในสังกัด(น่าจะเป็นสถาบันสมทบ ?) มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ แห่ง ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนาลันทานั่นเอง เช่น**
(๑) ศรีกรัชญามหาวิหาร
(๒) ศรีศักราทิตยการิตอาหาระ ของกษัตริย์ศักราทิตย์
(๓) ศรีหริวรมันมหาวิหาร ของกษัตริย์หริวรมัน
(๔) ศรีโสมปาลการิตธรรโมยิกาวิหารีย-ภิกษุสังกัสยะ ของศรีโสมปาละ สร้างไว้สำหรับนิกายธรรโมยิกะ
(๕) ศรีประถามศิวปุรมหาวิหารียะ-อารยภิกษุสังฆะ
(๖) ศรีนาธรรมปาลเทวะ-คันธกุฏิวาสิกภิกษุนัง
ความเจริญรุ่งเรืองของนาลันทาโดยเฉพาะการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาตินั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีด นิสิตจากหลายประเทศมาศึกษา เช่น จากจีน ทิเบต อินโดนีเซีย เตอรกี แม้จะเข้าเรียนยากเพราะต้องผ่านกระบวนการสอบเข้าที่ยากมาก๒๖ แต่นิสิตก็มีมากถึง ๑๕,๐๐๐ คน มีอาจารย์ ๑,๕๐๐ ท่าน ผู้บริหารแห่งนาลันทามีคุณลักษณะ ๒ อย่าง ในขณะเดียวกัน คือ (๑) เป็นพระภิกษุ เป็นต้นแบบแห่งจรณะ (๒) เป็นนักวิชาการ เป็นต้นแบบด้านพุทธิปัญญา (men of model character and perspicuous intellect) การคัดเลือกอธิการบดี (หรือ เจ้าอาวาส) กระทำกันโดยมติของคณะสงฆ์เป็นส่วนรวม หลักเกณฑ์ของการเลือกอยู่ที่ความรู้ ความสามารถ ชื่อเสียงและอาวุโส อธิการบดีมีคณะกรรมการช่วยดำเนิน งาน ๒ คณะ คือ (๑) คณะกรรมการวิชาการ (๒) คณะกรรมการบริหารงาน๒๗


ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนาลันทา (Principals 0f Nalanda) แต่ละท่าน ล้วนมีชื่อเสียงทั้งด้านความเป็นผู้ทรงศีลและความเคร่งครัดในระเบียบวินัย ผู้บริหารที่ปรากฏชื่อ เช่น ธรรมปาละ จันทรปาละ คุณมติ สถิรมติ ชินมิตร ประภามิตร ญาณจันทระ ศิครพุทธะ ศีลภัทระ๒๘ ในจำนวนผู้บริหารทั้งหมด ท่านศีลภัทระนับว่าโดดเด่นที่สุด ท่านศึกษาสูตรและศาสตร์ทั้งหมด และเชี่ยวชาญเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด๒๙ ความเป็นอยู่ของนิสิตแห่ง นาลันทา สันนิษฐานว่าคงดำเนินไปด้วยดี มีเครื่องอุปโภคบริโภคครบครัน เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา พุทธ- ศาสนิกชนและแม้ศาสนิกของลัทธิผู้ ศรัทธาในด้านการศึกษา ย่อมให้ความอุปถัมภ์ นิสิตเข้าเรียนโดยเสียค่าบำรุงเพียงเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยทั้งหมดเกิดจากกัลปนาผลที่พระราชาทรงอุทิศไว้ให้ กษัตริย์หรรษาวรรธนะคือหนึ่งในผู้อุปถัมภ์สำคัญ ดังบันทึกของสมณะ เฮี่ยนจั๋งว่า๓๐
ณ ที่นี้ มีพระพุทธรูปทองแดง ขนาดสูง ๒๔.๔ เมตร (24.4 m) ซึ่งสร้างโดยปูรววรมัน (Purvavarman) เชื้อสายองค์สุดท้ายของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าหรรษาวรรธนะ แห่งกาโนช ทรงเมตตาให้ความอุปถัมภ์สถาบันแห่งนี้ ทรงสร้างวิหารทองเหลือง ทรงจัดสรรงบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนประมาณ ๑๐๐ หมู่บ้าน มอบให้สถานศึกษา และคนในหมู่บ้านประมาณ ๒๐๐ คน ให้ความอุปถัมภ์ด้านข้าว เนย และนมตามที่ต้องการ
มหาวิทยาลัยนาลันทามีระเบียบเกี่ยวกับการพักอยู่อาศัยและศึกษาเข้มงวดมาก นักศึกษาที่ประพฤติผิดระเบียบของมหาวิทยาลัยร้ายแรงจะถูกลงโทษขับออกจากมหาวิทยาลัยทันที
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕