หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
มหาวิทยาลัยนาลันทา
 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๒๔ - ๒๙



(๑) มหาวิทยาลัยวลภี (University of Valabhi)


มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนามหายานและวิชาการ อื่นๆ ในภาคตะวันออกในขณะที่มหาวิทยาลัย วลภีเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาหีนยาน(เถรวาท) ในภาคตะวันตก๓๔ มหาวิทยาลัยทั้งสอง เจริญรุ่งเรืองอยู่ในยุคใกล้เคียงกัน
สมณะเฮี่ยนจั๋งพบอาคารนับร้อยหลัง ที่มหาวิทยาลัยวลภี มีนิสิตประมาณ ๖,๐๐๐ คน นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ๓ ท่าน คือ (๑)ชยเสนะ (๒)คุณมติ (๓)สถิรมติ สมณเฮี่ยนจั๋งบันทึกไว้ว่า อำนาจอธิปไตยในการปกครอง เป็นของผู้มีกำเนิดกษัตริย์ หลานของศีลาทิตย์ผู้เป็นอดีตกษัตริย์ แห่งมัลวะ และพระโอรสบุญธรรมของ ศีลาทิตย์ ปกครองอยู่ที่กานยกุพชะ พระนามของพระองค์คือธรุวภฏะ (Thruva bhata-Tu-lo-po-po-ta) พระองค์เป็นคนใจร้อน วิสัยทัศน์ตื้น แต่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ธรุวภฏะ นี่แหละเป็นผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัยวลภี
สมณะอี้จิงบันทึกไว้ว่า วลภีเป็นศูนย์การศึกษาชั้นสูงของพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง เจริญรุ่งเรืองควบคู่กับนาลันทา ตั้งอยู่ในเมืองวลภี หรือวลภีบุรี ในแคว้น วาลาแห่งกฐิยาวาร์ (Wala State of Kathiawar)
ศูนย์การศึกษาและกิจกรรมทางศาสนาแคว้นนี้มีหลายแห่ง แต่วลภียิ่งใหญ่ที่สุด พระราชินีทุดดา(Dudda) พระธิดาของ น้องสาวของธรุสวเสนะที่ ๑ (Thrusva sena I) เป็นผู้ก่อสร้างอาคารหลังแรก ในเบื้องต้นเป็นวิทยาลัยวัด (monastic college) ต่อมา มีการสร้างอาคารหลายหลังขึ้นในวัด เช่น อาภยันตริกวิหารของท่านมิมมา ภัพพปาทวิหารของท่านภัททันตะ สถิรมติ


ฮุยลีบันทึกไว้ว่า แนวคิดที่โดดเด่นซึ่งใช้ศึกษาในวลภี คือแนวคิดของสำนักสัมมีติยะ แห่งหีนยาน แต่จากบันทึกของสมณะอี้จิง พอจะสันนิษฐานได้ว่า วลภีเปิดสอนวิชาการทางโลกทั่วไปด้วย ราชสำนักและมหาเศรษฐีให้ความอุปถัมภ์โดยเฉพาะงานห้องสมุดของวลภี ชื่อเสียงและความ รุ่งเรืองปรากฏวลภีชัดเจนในหนังสือ กถา-สริตสาคร ของท่านโสมเทวะ ว่า พวกพราหมณ์แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา นิยม ส่งบุตรหลานมาเรียนวิชาชั้นสูงที่วลภีมากกว่า ที่จะส่งไปเรียนที่พาราณสีหรือนาลันทา ซึ่งแม้จะอยู่ใกล้กว่า เช่น วาสุทัตตะส่งบุตรชายชื่อวิษณุทัตตะอายุ ๑๖ ปีมาเรียนวิชาชั้นสูง๓๕

(๒) มหาวิทยาลัยโอทันตบุรี (Odantapura,Odantapuri)
มหาวิทยาลัยโอทันตบุรี ในระยะเริ่มต้นมีฐานะเป็นมหาวิหารเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น มีภิกษุอยู่มากถึง ๑๐,๐๐๐ รูป เกิดขึ้นก่อนสมัยราชวงศ์ปาละ ต่อมาได้รับอุปถัมภ์จากราชวงศ์ปาละ ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยตามลำดับ
ในยุคเริ่มต้น โคปาละผู้สถาปนาราชวงศ์ปาละ เมื่อทรงสร้างเมืองหลวงใหม่แห่งโอทันตบุรีในแคว้นมคธ ทรงดำริว่า ควรจะสร้างที่นี้ให้เป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนา เหมือนกับนาลันทาแห่งราชวงศ์คุปตะ โคปาละจึงสร้างมหาวิหาร ขึ้น ห่างจากนาลันทาประมาณ ๖ ไมล์ โดยสร้างบริเวณทะเลสาบที่น้ำแห้งหมด แล้ว หลักฐานบางแห่งบอกว่า รามปาละ แห่งราชวงศ์ปาละเป็นผู้สร้างขึ้น ที่เมืองหลวงชื่อ รามาวดี เป็นศูนย์การศึกษา พระพุทธศาสนา
โอทันตบุรีนี่เองเป็นต้นแบบการสร้างวัดในทิเบต (ประมาณ พ.ศ.๑๒๙๒) ความยิ่งใหญ่ของโอทันตบุรี เห็นได้จากข้อความต่อไปนี้
วัดซึ่งมีวิหารอยู่หลายหลัง มีวิทยาลัย ๔ แห่ง มีอาคารอื่นๆ อีกหลายหลัง แวดล้อมด้วยกำแพงวงกลมยาวประมาณ ๑ ไมล์ (๑.๖๐๙ กม.) หันหน้าไปยังทิศทั้งสี่ ตามกำแพงจะมีเจดีย์แก้บนทำด้วยอิฐ (votive brick chaitya) ตรงกลางกำแพง มีห้องประชุมใหญ่ มีทางระเบียบเดินไปหอสวดมนต์ทั้งสี่(ทิศ) มีรูปปั้นและ(พระพุทธ)รูปหล่อ ทองคำบริสุทธิ์บรรจุอยู่ในวิหาร เชิงเทียนและกระถางธูปล้วนทำด้วยทองและเงิน
ท่านธรรมรักขิตะผู้เชี่ยวชาญหีนยาน ซึ่งเป็นอาจารย์ของทีปังกร ศรีญาณ (พ.ศ. ๑๕๒๓-๑๕๙๗ โดยประมาณ) สอนประจำอยู่ ณ มหาวิทยาลัยนี้ ในยุคที่เจริญรุ่งเรือง มีนิสิตประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอทันตบุรีเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ในฐานะเป็นศูนย์การศึกษา พระพุทธศาสนา ๓๕๑ ปี (พ.ศ.๑๒๙๒-๑๖๔๐)๓๖

(๓) มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา (University of Vikramasila)
วิกรมศิลาเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในยุคต่อมา กษัตริย์ธรรมปาละเป็นผู้สร้าง ตั้งอยู่ ณ บริเวณเชิงเขาชัน(bluff-hill) ด้านฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา ในแคว้นมคธ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำไหลขึ้นเหนือ แต่ไม่สามารถกำหนดจุดที่ตั้งแน่นอนได้ บางทีจุดที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ อาจถูกน้ำกัดเซาะพังหมดแล้วก็ได้ ปัจจุบันน่าจะอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มเบงกอลและพิหาร มีชื่อเต็มว่า ศรีมัท วิกรมศิลาเทวมหาวิหาร หรือ วิกรมบุรีมหาวิหาร กษัตริย์ราชวงศ์ปาละแห่งเบงกอล ให้ความอุปถัมภ์วิกรมศิลา (พ.ศ. ๑๓๑๓-๑๓๕๓ โดยประมาณ) สันนิษฐานว่า กษัตริย์ ผู้ก่อสร้างคือ ธรรมปาละ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์ปาละ ขึ้นครองอำนาจโดยรวมอาณาจักรเล็กๆ เข้าด้วยกัน ธรรมปาละเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการเทิดทูนอย่างสูงส่งจากประชาชนจากการ ขุดค้น พอจะได้หลักฐานว่า วิกรมศิลา คือพื้นที่บริเวณสุลตันคัญชะ ในอำเภอ ภคัลปูร์ของรัฐพิหาร
วิกรมศิลามีสถานะเป็นมหาวิหารและจัดโครงสร้างมหาวิทยาลัย เหมือน นาลันทา มีประตูใหญ่ ๖ ประตู มีนายทวาร ปาละเป็นบัณฑิต(น่าจะคอยทำหน้าที่สอบ สัมภาษณ์ผู้ประสงค์จะเข้าเรียน) วิกรมศิลาเปิดสอนถึงระดับปริญญาโท
ท่านทีปังกร ศรีญาณ พระโอรสแห่งกษัตริย์กัลยาณศรีและพระเมหศรี ศรีประภาวดี (พ.ศ.๑๕๒๓-๑๕๙๖ โดยประมาณ) เกิดในซาฮอร์ อินเดียตะวันออก หลังจากจบการศึกษา ที่มหาวิทยาลัย โอทันตบุรีแล้ว ได้มาเป็นอธิการบดีแห่ง วิกรมศิลาในปี พ.ศ.๑๕๗๗-๑๕๘๑ เนื่องจากวิกรมศิลาอยู่ไม่ไกลจากพระราชวัง ต่อจากนั้นท่านได้รับเชิญไปทิเบตเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ก่อตั้งนิกาย ลามะ(Lamaism)ในทิเบต๓๗
ความยิ่งใหญ่ของวิกรมศิลาไม่น้อยไปกว่านาลันทา ภายในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัย มีวิหาร ๑๐๘ หลัง แบ่งเป็น ๖ วิทยาลัย มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา (บัณฑิต) ๑๐๘ คน ทำหน้าที่เป็นผู้นำในด้านศาสนา นักปราชญ์เหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐ วิกรมศิลามีชื่อเสียงด้านการศึกษาตันตระ แต่มีการศึกษาวิชาอื่น ด้วย ดังข้อความต่อไปนี้๓๘
มีห้อง (chambers) ประกอบพิธี ๑๐๘ ห้อง จำนวน ๕๓ ห้องสำหรับประกอบพิธีลึกลับ (esoteric practice -หมายถึงพิธีฝ่ายตันตระ) ๕๔ ห้องสำหรับใช้ทั่วไป แม้จะเป็นสถาบันพิเศษสำหรับตันตระ แต่มีการสอนวิชาไวยากรณ์ ปรัชญา ตรรกศาสตร์ เป็นต้นด้วย วิกรมศิลาเป็นศูนย์แปลตำราสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต
บัณฑิต ศากยะ ศรีภัทระจาริกมาเยี่ยมชมที่แห่งนี้(พ.ศ.๑๖๘๘-๑๗๖๘) และเมื่อท่านธรรมสวามีจาริกมาถึงสถานที่แห่งนี้ (พ.ศ.๑๖๙๖-๑๗๕๙) ยังเห็นความรุ่งเรืองอยู่ ซึ่งแสดงว่าวิกรมศิลาเจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลาประมาณ ๔๕๕ ปี (พ.ศ.๑๓๑๓-๑๗๖๘)๓๙

(๔) โสมบุรี (Sompura, Somapuri)
สมณะเฮี่ยนจั๋งเดินทางถึงจังหวัด ปุณฑรวรรธนะ(Pundravardhana) ในปี พ.ศ.๑๑๘๒ เห็นพุทธสถาน(Buddhist Establishments) ณ บริเวณนี้ แต่กลับมีพวกเชน(นิครนถ์/นักบวชเปลือย)และมีวัด เชนมากกว่า โดยเฉพาะในหมู่บ้านพาหาร์ ปูร์(Paharpur) อำเภอราชษหิ(Rajshahi) เมื่อราชวงศ์ปาละมีอำนาจ(พ.ศ.๑๑๔๙-๑๑๘๖ โดยประมาณ) กษัตริย์ในราชวงศ์นี้จึงสร้างมหาวิหาร ชื่อว่า ธรรมปาลมหา วิหารแห่งโสมบุรี(Dharmapala Mahavihara of Sompura) กษัตริย์ที่สร้างพระ นามว่า เทวปาละ(พ.ศ. ๑๓๕๓-๑๓๙๓ โดย ประมาณ) ซึ่งเป็นพระราชโอรสสืบรัชทายาท ของธรรมปาละ ราชวงศ์ปาละถือว่าเป็นราชวงศ์ แห่งการศึกษาอย่างแท้จริง
จากหลักฐานจารึกบนแผ่นทองแดงซึ่งมีอายุอยู่ในปี พ.ศ.๑๑๒๒ ค้นพบที่ซากมหาวิหาร ระบุว่าบริเวณนี้ พราหมณ์สามีภรรยาจัดสรรไว้เพื่อบูชาพระอรหันต์ ผู้ถวายคือ นาถสาร์มมา (Nathasarmma) และรามี (Rami) นักบวชเชนชื่อ
คุหนันที (Guhanandi) เป็นหัวหน้าที่นี่ ตำบลนี้ชื่อว่า วฏ-โคหาลี(Vata-Gohali) เมื่อมีการปรับปรุงและออกแบบสถานที่ใหม่ ได้มีการดัดแปลงวัดเชนเป็นวัดทางพระพุทธศาสนา โดยกษัตริย์ปาละซึ่งนับถือ พระพุทธศาสนา โสมบุรีซึ่งมีฐานะเป็นเมือง เล็กๆ จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น ดังหลักฐานที่ปรากฏ
ประตูใหญ่หันหน้าไปทางเหนือ ด้านนอก มีเมืองล้อมรอบ เดินเข้าประตูไปจะพบวิหารรายรอบ มีกำแพงล้อมรอบ คั่นเป็นตอนโดยมุข มีบันไดรอบสามด้าน มีห้องพัก สำหรับภิกษุ ๑๗๗ ห้อง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีเตียงนอน แต่มีแท่นบูชา... มีห้องครัวและห้องรับประทานอาหารรวม มีเจดีย์แบบพม่ารูปทรงปิรามิด ศิลปกรรมหลายอย่างบ่งถึงวัดในทางพระพุทธศาสนา ของพม่า ชวา และกัมพูชา
มหาวิทยาลัยโสมบุรี (มหาวิหาร) เจริญรุ่งเรืองในฐานะเป็นศูนย์การศึกษาอยู่เกือบ ๔๐๐ ปี จากประมาณ พ.ศ. ๑๔๔๓ ถึง พ.ศ.๑๗๔๓ โสมบุรีสืบทอดประเพณีของนาลันทาต่อจากโอทันตบุรีและวิกรมศิลา๓๙

(๕) มหาวิทยาลัยชคัททละ (Jagaddala)
ชคัททละเป็นศูนย์การเรียนพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่แห่งสุดท้ายซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ในราชวงศ์ปาละ พระเจ้ารามปาละทรงริเริ่มสร้างไว้บนริมฝั่งแม่น้ำคงคาและแม่น้ำกโรโตยา(พ.ศ.๑๖๒๗-๑๖๗๓ โดยประมาณ) อยู่ในบริเวณเบงกอลตอนเหนือ เดิมทีเดียวมีชื่อว่า วาเรนระ(Varendra หรือ วาเรนทรี-Varendri) เมืองหลวงชื่อ รามาวดี เป็นราชอาณาจักรของพระเจ้ารามปาละ มหาวิหารประจำเมืองชื่อ ชคัททละ ชคัททละมีความยิ่งใหญ่เหมือนกับ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอื่นๆ ดังที่กวีกล่าวว่า
(วาเรนทรี) ซึ่งมีช้างตระกูล มันทระ นำมาจากป่า เป็นที่ตั่งแห่งชคัททลมหาวิหาร เป็นที่สั่งสมกรุณาในสรรพสัตว์ ซึ่งชาวเมืองสะท้อนออกมาโดยการสร้างเทวรูปอวโลกิเตศวร และเทวรูปนี้ยิ่งได้รับ ความนับถือมากขึ้นเมื่อได้รับสถาปนา ขึ้นเป็นใหญ่แห่งวิหารและเทพีตารา
มหาวิทยาลัยชคัททละกลายเป็นแหล่งพักพิงของนักปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนาตันตระ มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับศูนย์พระพุทธศาสนาแบบทิเบต ที่สำคัญ คือการแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต ทั้งส่วนที่เป็นกันจุร์ (Kanjur-พระไตรปิฎก) และ ตันจุร์ (Tanjur-อรรถกถา) ได้จัดทำที่ชคัททละ นี่เอง ภิกษุชาวแคชเมียร์หรือจากถิ่นอื่น เมื่อ มหาวิทยาลัยโอทันตบุรี และวิกรมศิลาถูกทำลาย ได้เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนา ระบบมหาวิทยาลัย ณ ชคัททละนี้๔๐
สรุปได้ว่า การศึกษาพระพุทธศาสนา ในระบบมหาวิทยาลัย เริ่มที่นาลันทา และสืบทอดกันเรื่อยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังกล่าวมา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์คุปตะถึงราชวงศ์ปาละ เมื่อสิ้นราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. ๑๖๓๘ โดยประมาณ) มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเริ่มเปลี่ยนนโยบายตามผู้แนวคิดของผู้บริหารและผู้อุปถัมภ์ โดยเฉพาะผู้อุปถัมภ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย แต่ไม่สามารถอยู่รอดได้ กลุ่ม เสนา (Senas) จากอินเดียตอนใต้ มีอำนาจปกครอง รื้อฟื้นนิกายวิษณุดั้งเดิม (orthodox Vaishanavism) ขึ้นมาใหม่ สนับ สนุนมหาวิทยาลัยตันตระ(Tantric Universities) ให้เป็นศูนย์การศึกษาและ วัฒนธรรม๔๑เชิงอรรถ
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕