ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

เก็บเพชรในคัมภีร์


พระเมธีสุตาภรณ์ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 215 - 224

คัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์บันทึกพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีจำนวน ๔๕ คัมภีร์ มีธรรมะนับได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ธรรมะเหล่านี้มีหลายรสหลายประเภท ในโอกาสนี้จะขอนำมากล่าวแต่บางส่วน เพื่อให้เข้ากับหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “เก็บเพชรในคัมภีร์”

ธรรมะสำหรับสถาบันครอบครัว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสั่งสอน เพื่อจะให้บุคคลบรรลุพระนิพพานอย่างเดียว ทรงตรวจดูอุปนิสัยและอัธยาศัยของผู้ฟังก่อน แล้วจึงทรงแสดงธรรม สำหรับผู้ที่สร้างสมบุญบารมีมาน้อย พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้ผู้นั้นได้รับความสุขจากการอยู่ครองเรือน และให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ทรงวางหลักธรรมสำหรับปฏิบัติในสถาบันครอบครัวไว้ว่า สามีพึงบำรุงภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ

(๑) ให้เกียรติยกย่อง

(๒) ไม่ดูหมิ่น

(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ

(๔) มอบความเป็นใหญ่ให้

(๕) ให้เครื่องแต่งตัว

 

ภรรยาได้รับการบำรุงจากสามีโดยหน้าที่ ๕ ประการแล้ว ควรอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ

(๑) จัดการงานดี

(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี

(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ

(๔) รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้

(๕) ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

 
 

ที.ปา. ๑๑/๒๖๙/๒๑๔

บุตรธิดา ควรมีความกตัญญู บำรุงบิดามารดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่ ๕ ประการคือ

(๑) ท่านเลี้ยงเรามา เลี้ยงท่านตอบ

(๒) ช่วยจัดทำกิจของท่าน

(๓) จักดำรงวงศ์ตระกูล

(๔) จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท

๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

 
บิดามารดาได้รับการบำรุงจากบุตรธิดาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดาด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ

(๑) ห้ามมิให้ทำความชั่ว

(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี

(๓) ให้ศึกษาศิลปวิทยา

(๔) หาภรรยา (สามี) ที่สมควรให้

(๕) มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

 
 

ที.ปา. ๑๑/๒๖๗/๒๑๒

นี้เป็นธรรมะสำหรับสถาบันครอบครัวที่ยกมาพอเป็นตัวอย่างการปกครองคณะสงฆ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปกครองในลักษณะธรรมาธิปไตย คือ เน้นหลักธรรม โดยกำหนดให้พุทธบริษัททำตนให้บริสุทธิ์ ไม่ทรงรวบอำนาจไว้ลำพังพระองค์เองซึ่งเป็นลักษณะของเผด็จการ ทรงผ่อนคลายตามสมควรของพุทธบริษัท ในครั้งแรก ทรงให้การอุปสมบทด้วยพระองค์เอง โดยตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติ พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” (เอหิ ภิกฺขูติ ภควา อโวจ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย) วิ.ม. ๔/๑๘/๒๕
ต่อมาเมื่อมีภิกษุมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนามากขึ้น ก็ทรงวางแบบแผนการอุปสมบทเป็นไตรสรณคมน์ และญัตติตติยกัมมวาจาโดยลำดับ ญัตติตติยกัมมวาจามีวิธีทำคือ ประชุมสงฆ์มากน้อยต่างกัน ตามแต่สังฆกรรมที่สำคัญมากหรือน้อยตามที่กำหนด และมีการสวดประกาศขอมติของสงฆ์ในที่ประชุมเป็นเสียงเอกฉันท์ ค้านเพียงเสียงเดียวก็ไม่ได้ ต้องทำให้เป็นเอกฉันท์ก่อน สงฆ์ที่จะเข้าประชุมได้ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ รูปใดไม่บริสุทธิ์ก็เข้าประชุมไม่ได้ ต้องทำตนให้บริสุทธิ์ตามพระวินัยก่อน จะว่าเป็นต้นแบบของการปกครองแบบประชาธิปไตยก็กล่าวได้
ในการปกครองของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตั้งกฎระเบียบไว้เรียกว่า วินัย ซึ่งเป็นข้อห้าม และพระองค์ทรงรู้กาลว่าวินัยข้อนี้ควรบัญญัติเมื่อใด เพราะถ้าพระองค์ทรงบัญญัติก่อนที่ทุกคนจะเห็นโทษและประโยชน์ คนเหล่านั้นก็จะไม่ยอมรับ เมื่อคนเหล่านั้นไม่ยอมรับก็จะไม่ปฏิบัติตาม วินัยก็จะไม่นำไปสู่ความดีได้
อีกอย่างหนึ่ง ถ้าบัญญัติแต่วินัยก็จะเป็นการบังคับทำให้มีแรงกดดัน ยิ่งมีมากข้อเป็นร้อยๆ ก็ยิ่งมีความกดดันมาก พระองค์จึงตรัสธรรมะซึ่งเป็นทางปฏิบัติที่เป็นสุขและทั้งลดความกดดันและเป็นการรักษาวินัยได้ดีมากขึ้น เช่นคนที่มีเมตตามากๆ ก็จะไม่คิดฆ่าสัตว์ ก็เป็นการรักษาศีลข้อปาณาติบาตได้อย่างบริสุทธิ์
อนึ่ง ความเป็นสัพพัญญูของพระองค์ไม่มีใครเปรียบได้ คือ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นไม่ว่าเรื่องใหญ่น้อยเพียงใด พระองค์รับสั่งเรียกประชุมสงฆ์แล้วทรงสอบถามเหตุของเรื่องแล้ว ทรงชี้ถึงโทษของความผิดและประโยชน์ของคุณความดีได้ชัดเจนที่ทุกคนยอมรับโดยสนิท ใจไม่มีข้อโต้แย้ง นี้เป็นความสามารถพิเศษที่นักปกครองผู้อื่นไม่มี

การปกครองประเทศ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดวางระเบียบแบบแผนวิธีการปกครองและดำเนินกิจการต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ จักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ เป็นต้นผู้สนใจพึงค้นดูความพิสดารใน ที.ปา. ๑๑/๘๔/๖๒

ระบบเศรษฐกิจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ภิกษุสงฆ์ใช้ปัจจัย ๔ คือ จีวรอันเป็นเครื่องนุ่งห่ม บิณฑบาต ได้แก่ อาหารเลี้ยง
ชีพ เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ให้พอเหมาะกับความเป็นอยู่และเท่าที่จำเป็น ไม่เน้นถึงรูปทรงสีสันความสวยงาม
หรูหรา เน้นเฉพาะการใช้ให้สำเร็จประโยชน์ที่จำเป็น ไม่ทำลายธรรมชาติ บางอย่างก็เก็บเอาของที่ใช้แล้วหาได้ง่ายมา
ประกอบ ปรับปรุงใหม่ กลับมาใช้ได้อีก เป็นการดำรงชีวิตที่เรารู้จักกันดี ภายใต้คำว่า “พอมีพอใช้ หรือเศษฐกิจพอเพียง”

มารยาทอันดีงาม
มารยาทการพูด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาในเรื่องมารยาทการพูดที่นับว่ายอดเยี่ยม เช่น บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดวาจาที่เป็นเท็จ ไม่พูดวาจาอันทำความแตกร้าว ไม่พูดวาจาส่อเสียด ไม่มุ่งเอาชนะกันด้วยการกล่าววาจาอันเกิดจากความแข่งดีกัน กล่าวแต่วาจาอันมีหลักฐานด้วยปัญญา กล่าวตามกาลอันสมควร ที.ปา. ๑๑/๑๕๓/๑๑๓
บุคคลผู้ไม่มีมารยาท พูดคำที่ไม่ควรพูดก่อให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นมากมาย เพราะคำพูดนี้มารยาทในตระกูล พระพุทธเจ้าตรัสสอนมารยาทประจำตระกูลไว้ตอนหนึ่งว่า “ทางที่ดีพวกเราควรเกื้อกูลมารดา ควรเกื้อกูลบิดา ควรเกื้อกูลสมณพราหมณ์ และควรประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้” ที.ปา. ๑๑/๑๐๕/๗๖
มารยาทในที่ประชุม สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ในคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันอุโบสถของเดือน ๔ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ประทับนั่งอยู่บนปราสาทชั้นบน พร้อมด้วยอำมาตย์ ๖ คน และหมอชีวกโกมารภัจ ขณะนั้นท้าวเธอทรงเปล่งอุทานว่า “ราตรีสว่างไสวน่ารื่นรมย์ งดงาม น่าชื่นชมยิ่งนัก เป็นฤกษ์งามยามดี วันนี้เราควรเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดหนอที่จะทำให้จิตใจของเราเบิกบานเลื่อมใสได้”
เมื่อท้าวเธอทรงเปล่งอุทานอย่างนี้แล้ว ราชอำมาตย์ผู้หนึ่งกราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูปูรณะ กัสสปะ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องกันว่า เป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชกาล ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอทรงนิ่ง
อำมาตย์ที่เลื่อมใสครูมักขลิ โคศาล, ครูอชิตะ เกสกัมพล, ครูปกุธะ กัจจายนะ, ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร และครูนิครนถ์ นาฏบุตร ก็กราบทูลเช่นนั้น ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
หมอชีวกโกมารภัจ นั่งนิ่งอยู่ที่ไม่ไกลจากพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ท้าวเธอตรัสถามหมอชีวกโกมารภัจว่า “สหายชีวก ทำไมท่านจึงนิ่งอยู่เล่า” ที.สี. ๙/๑๕๐/๔๘
อรรถกถาอธิบายให้เห็นเด่นชัดว่า พระเจ้าอชาตศัตรู มีพระประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ไม่กล้าไปเพราะทำความผิดไว้มาก แต่พระองค์ทรงรู้ว่าหมอชีวกเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค จึงชำเลืองดูหมอชีวกแล้วตรัสว่า “ราตรีสว่างไสวน่ารื่นรมย์ ฯลฯ ผู้ใดหนอที่จะทำให้จิตใจของเราเบิกบานเลื่อมใสได้”
หมอชีวกก็รู้ถึงการทำนิมิตหมายของพระเจ้าอชาตศัตรู แต่นิ่งเงียบอยู่ เพราะในที่ประชุมนั้นมีอุปัฏฐากของครูทั้ง ๖ อยู่ด้วย ถ้าหมอชีวกพูดก่อนแล้วพระราชาเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามคำทูลของหมอชีวก อุปัฏฐากของครูทั้ง ๖ ก็จะข้อนขอดว่า หมอชีวกเป็นคนประจบสอพลอ ฉะนั้น หมอชีวกจึงเปิดโอกาสให้อุปัฏฐากของครูทั้ง ๖ ทูลพระราชาก่อน
พระเจ้าอชาตศัตรูเคยไปหาครูทั้ง ๖ แล้ว แต่ไม่ศรัทธาในคำสอน เมื่ออุปัฏฐากของครูทั้ง ๖ มาทูลอีก ก็ไม่พอพระทัยมากยิ่งขึ้น แต่ไม่แสดงอาการไม่พอพระทัยออกให้ปรากฏ หรือตรัสห้าม ได้แต่ทรงนิ่ง ด้วยมีพระดำริว่า “ถ้าเราจักคุกคามคนเหล่านี้ ต่อไปคนอื่นรู้แล้วก็จะไม่กล้าบอกความจริงต่างๆ กับเรา” จึงทรงนิ่งเฉยเป็นนัยให้รู้ว่าไม่ทรงพอพระทัย แล้วชำเลืองดูหมอชีวกตรัสซ้ำอีก อุปัฏฐากของครูทั้ง ๖ เห็นอาการนั้นแล้วก็นิ่ง หมอชีวกจึงกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู
ข้อนี้แสดงให้เห็นมารยาทในที่ประชุมของหมอชีวก โกมารภัจ พุทธอุปัฏฐากทางการแพทย์ ธรรมสำหรับการดำรงชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมสำหรับการดำรงชีวิตในโลกนี้ก่อนที่จะบรรลุถึงพระนิพพานไว้หลายประการ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ เกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้ เช่น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์

(๑) อุฏฐานสัมปทา

ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบกิจ

(๒) อารักขสัมปทา

ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้

(๓) กัลยาณมิตตตา

มีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว

(๔) สมานัตตตา

เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนหามาได้
ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก

 

(องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๕๔/๓๔๐)

ทรงแสดงธรรมที่เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๔ ประการ คือ

(๑) เป็นนักเลงหญิง

(๒) เป็นนักเลงสุรา

(๓) เป็นนักเลงการพนัน

(๔) เป็นผู้มีมิตรชั่งมีสหายชั่วมีเพื่อนชั่ว

และทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขในภพหน้า คือ สัมปรายิกัตถประโยชน์ มี ๔ ประการ คือ

(๑) สัทธาสัมปทา

ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

(๒) สีลสัมปทา

ถึงพร้อมด้วยศีล

(๓) จาคสัมปทา

ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ

(๔) ปัญญาสัมปทา

ถึงพร้อมด้วยปัญญา

อนึ่ง ทรงเห็นโทษของการประกอบอาชีพบางอย่าง จึงตรัสไว้ว่า อาชีพ ๕ อย่าง อุบาสกไม่ควรประกอบการค้าขาย คือ

(๑) ค้าขายเครื่องประหาร

(๒) ค้าขายมนุษย์

(๓) ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร

(๔) ค้าขายสุรายาเสพย์ติด

(๕) ค้าขายยาพิษ

 
 

องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๒/๒๓๒

แม้แต่การทำธุรกิจลงทุนการค้า คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็บรรยายไว้ว่า
บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน พึงใช้สอยส่วน ๑ ประกอบการงาน ๒ ส่วน เก็บไว้ ๑ ส่วนเผื่อมีอันตราย จะได้นำมาแก้ไขอันตรายได้ (ที.สี.อ. หน้า ๔๘๗)
ถ้าคนไทยปฏิบัติตามหลักการนี้ วิกฤตเศรษฐกิจคงไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คนไทยคงไม่ต้องเป็นทาสทางเศรษฐกิจ
ตำราที่นักวิชาการแต่งขึ้นเป็นแบบเรียนก็ดี หนังสืออื่นๆ ก็ดี เมื่อล่วงกาลผ่านไปก็ต้องปรับปรุงใหม่ เพราะล้าสมัย หรือกฎหมายก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ แต่ธรรมะในพระไตรปิฎกไม่ล้าสมัย เหมาะสมทุกกาล ทุกสมัยเป็น อกาลิโก เช่น พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะที่เป็นทางแห่งความเสื่อม ที่เรียกว่า อบายมุข ไว้ ๖ ประการ คือ
๑. การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์
๒. การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน เป็นทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์
๓. การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์
๔. การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์
๕. การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์
๖. การหมกมุ่นในความเกียจคร้าน เป็นทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์
ธรรม ๖ ประการนี้ ใครประพฤติเมื่อใด จะเป็นในครั้งพุทธกาลหรือในขณะนี้ก็คงมีโทษ ทำให้เสื่อมโภคทรัพย์เหมือนกัน สำหรับการหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย พระองค์ตรัสโทษไว้ ๖ ประการ คือ

(๑) เสียทรัพย์ทันตาเห็น

(๒) ก่อการทะเลาะวิวาท

(๓) เป็นบ่อเกิดแห่งโรค

(๔) เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง

(๕) เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอาย

(๖) เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา

ผู้ใดเสพก็ย่อมได้รับโทษอย่างแน่นอน

 
 

ที.ปา. ๑๑/๒๔๗/๒๐๒

อนึ่ง พระทุทธเจ้าตรัสทางแห่งความเสื่อมไว้ใน ปราภวสูตร ๑๒ ประการ ผู้ต้องการความพิสดารพึงตรวจดูในขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (ขุ.ขุ. ๒๕/๙๑/๕๒๓)
ในที่นี้ขอนำมาเป็นตัวอย่าง คือ
คนชอบนอนหลับอยู่เสมอ คนชอบสมาคมพูดคุยเรื่องไร้สาระ
ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย นั่นเป็นทางแห่งความเสื่อม
และตรัสธรรมฝ่ายเจริญไว้ในมงคลสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (ขุ.ขุ. ๒๕/๑/๖) ว่า
การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
ธรรม ๔ ประการ เมื่อผู้ใดมีไว้ในตน ก็จะไม่มีความเสื่อม คือ
๑. ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง
๒. ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง
๓. ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง
๔. มีปัญญาจักษุในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
องฺ.จตุกฺก. ๑๕๘/๒๑๘

ธรรมที่เป็นคติประจำใจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสธรรมที่เป็นคติเตือนใจไว้มากมาย จะขอนำมากล่าวไว้พอให้เป็นตัวอย่าง
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์
การงานเหล่านั้นย่อมทำบุคคลผู้มิได้พิจารณา
ทำด้วยความรีบร้อนให้เดือดร้อนเหมือนกลืนของร้อนเข้าไปในปาก
ธรรมดานกแร้งย่อมเห็นซากศพได้ไกลถึงร้อยโยชน์มิใช่หรือ
เพราะเหตุไร เจ้าแม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้
(พญาแร้งโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ
ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงในราก
พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซา
เหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ที่เปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
ธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น มี ๕ ประการ คือ

(๑) ไม่ทำความสบายแก่ตนเอง

(๒) ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย

(๓) บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก

(๔) เที่ยวในกาลไม่สมควร

(๕) ไม่ประพฤติพรหมจรรย์

 

ธรรม ๕ ประการเป็นเหตุให้อายุยืน

(๑) เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง

(๒) รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย

(๓) บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย

(๔) เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร

(๕) เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์

 
  องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๒๕/๒๐๘
top