พระมหาบูรณะ ชาตเมโธ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 197
- 213
ความเบื้องต้น
ชาดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ แสดงถึงความเป็นมาในพระชาติต่าง
ๆ ที่ได้เกิดมาสร้างบารมีเอาไว้เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เราเรียกว่าพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่
๒๗, ๒๘ มีทั้งหมด ๕๔๗ เรื่อง อาจมีเรื่องที่ซ้ำกันบ้างแต่คาถาจะต่างกัน
หรือบางเรื่องยกมาเพียงคาถาเดียวจากเรื่องที่มีหลาย ๆ คาถา
โครงสร้างชาดก
ชาดกนั้นมีคัมภีร์หลักอยู่ ๒ ส่วน คือคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ตามที่กล่าวแล้ว
และคัมภีร์อรรถกถา ขยายความเรื่องนี้อีก ๑๐ เล่ม นอกนั้นอาจปรากฏในพระวินัยปิฏก
แลพระสูตรส่วนอื่น ๆ หรือมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบ้าง การอ่านชาดกในพระไตรปิฎกโดยตรง
เราจะได้ขุมทรัพย์๑คือปัญญา เพราะเป็นการอ่านพระพุทธพจน์ที่ท่านบันทึกไว้ในรูปของคาถาร้อยกรอง
แต่เราอาจจะไม่ทราบที่มาที่ไป หรือความเป็นมาความเป็นไป แม้ได้ของดีแต่บางทีไม่รู้วิธีใช้
ก็อาจเกิดประโยชน์น้อย เหมือนคนได้ยารักษาโรคขนานดีมา แต่ไม่มีฉลากกำกับวิธีใช้มาให้
ย่อมไม่ค่อยโปร่งใจเท่าไรที่จะบริโภค ส่วนในอรรถกถาชาดกนั้น มีโครงสร้างที่ชัดเจน
๕ ส่วน คือ
๑. ปัจจุบันนิทาน กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
ประทับอยู่ที่ไหน ทรงปรารภใคร เราจะทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นว่าใครทำอะไร
ที่ไหน เรื่องอะไร
๒. อดีตนิทาน เป็นเรื่องชาดกโดยตรง เรื่องที่เคยเกิดมีมาในอดีต
ทรงนำมาเล่าในที่ประชุมสงฆ์ให้รับทราบ บางเรื่องเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง
ๆ ในชมพูทวีป บางเรื่องเป็นนิทานท้องถิ่น บางเรื่องเป็นนิทานเทียบสุภาษิต
เช่นคนพูดกับสัตว์ สัตว์พูดกับสัตว์ หรือเทวดาพูดกับคน แต่ทั้งหมดนั้นมุ่งสอนให้คนประกอบกรรมดี
๓. คาถา เป็นพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่กล่าวแล้ว
ท่านยกมาตั้งไว้ ซึ่งภาษิตบางเรื่องเป็นพุทธพจน์โดยตรง บางเรื่องเป็นฤาษีภาษิต
บางเรื่องเป็นเทวดาภาษิต แต่ก็ถือเป็นพุทธพจน์เพราะเป็นคำที่นำมาตรัสเล่าใหม่
๔. เวยยากรณภาษิต เป็นการอธิบายธรรมที่ปรากฏในคาถานั้น
ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย เช่นคำว่า หิริโอตตัปปะ ความละอายชั่วกลัวบาป
ท่านอธิบายว่า ละอายชั่วคือละอายต่อการทำทุจริตทางกาย วาจา ใจ
มีเหตุเกิดจากเหตุภายใน คือนึกถึงตนเอง ชาติตระกูล ความรู้ความสามารถ
ฐานะ การศึกษา เป็นต้นแล้วไม่กล้าทำทุจริต ส่วนความกลัวบาปมีเหตุเกิดจากภายนอกคือกลัวว่าตนเองจะต้องติเตียนตนเอง
กลัวสังคมติเตียน กลัวถูกจับกุมลงโทษ และกลัวว่าหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ
แล้วไม่กล้าทำความชั่ว (เทวธรรมชาดก ขุททกนิกาย อรรถกถาชาดก เล่มที่
๑ ข้อ ๖ หน้า ๑๘๕ ฉบับ มหาจุฬาอัฏฐกถา ๒๕๓๕ )
๕. สโมธาน เป็นการสรุปชาดก ให้เห็นว่าผู้ที่ปรากฏในชาดกนั้น
ๆ เมื่อก่อนได้เคยทำกรรมที่ไม่ดีมาแล้วอย่างนี้ แม้ชาตินี้ก็ยังทำอยู่
ผลที่ได้คือทำให้ท่านผู้นั้นไม่กล้าทำความผิดซ้ำอีก หรือไม่ก็ได้บรรลุธรรมชั้นโสดาบันบุคคลขึ้นไป
ความงามในชาดก
ชาดกนั้นนำเสนอวิถีชีวิตของบุคคลในอดีตที่ผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า
๓,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากยุคนี้ ยังตกอยู่ในอำนาจของความรัก
ความชัง ความโกรธ ความหลง หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องคนในยุคนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากคนในอดีตแต่อย่างใด
ในเรื่องความรัก ความชัง ความหลงและแนวการดำเนินชีวิต ผู้ที่พัฒนาตนเองได้
ห้ามตนจากความชั่วได้ย่อมประสบกับความเจริญ ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่า
โง่เขลากว่า ก็ยังลำบากอยู่เสมอ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ส่วนผู้ประพฤติอธรรมย่อมอยู่เป็นทุกข์อยู่เสมอเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เราหาได้ในชาดก
แม้วิถีชีวิตไทยแท้ก็ยังดำเนินตามแนวทางที่ปรากฏในชาดก เช่นศิลปะ
วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีชีวิตไทยที่มีใจเมตตา
กรุณา ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ล้วนได้จากชาดก
เราจะมาดูลีลาชีวิตในชาดกที่เป็นเครื่องสอนใจในหลายรูป ดังนี้
ลีลาชีวิตที่แตกต่าง
๑. ตายเพราะปาก การพูด เป็นการสื่อสารที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์เรารู้เรื่องที่ประสงค์ได้
แต่การพูดมากไปก็ไม่ดี ไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง พูดกันคนละทีก็ทะเลาะกัน
เรื่องการพูดท่านจึงว่า ต้องพูดให้ถูกกาล พูดคำสัตย์คำจริง คำอิงประโยชน์
อ่อนหวาน และมีเมตตา คนที่พูดไม่ถูกกาล ถึงตายมีมาแล้วมิใช่น้อย
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษีมีศิษย์
๕๐๐ ล้วนแต่เก่งในการเข้าฌาน แต่มีศิษย์ขี้โรคอยู่คนหนึ่งยังไม่ได้ฌานอะไร
วันหนึ่งกำลังผ่าฟืนอยู่ เพื่อนดาบสอีกคนก็มายืนสั่งการว่า “ฟันอย่างนี้ซิ
ผ่าอย่างนี้ ซิท่าน” เธอโกรธจึงพูดว่า “เดี๋ยวนี้ แกไม่ใช่อาจารย์สั่งสอนศิลปะในการผ่าฟืนแก่ฉันหรอกนะ”
พูดจบก็เอาขวานฟันก้านคอคนช่างพูดนั้นถึงแก่ความตาย
ที่ใกล้ ๆ อาศรมของพวกดาบส มีนกกระทาตัวหนึ่งขันอยู่ทุกวัน
ต่อมาเงียบเสียงไป พระโพธิสัตว์จึงถามพวกศิษย์ว่า “นกกระทาที่เคยขันอยู่ทุกวันไปไหน”
ฟังว่าถูกนายพรานนกมาดักจับไปกินแล้ว เพราะขันดังเกินไป อาจารย์จึงกล่าวว่า
“คำพูดที่ดังเกินไป รุนแรงเกินไป และพูดเกินเวลา ย่อมฆ่าคนโง่
เหมือนเสียงฆ่านกกระทาที่ขันดังเกินไป”
(ติตติรชาดก ชาดก เรื่องที่ ๑๑๗
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่
๒๗ หน้า ๔๘)๒
๒. ชื่อนั้นสำคัญไฉน หลายคนไม่เข้าใจความจริงของชีวิตว่าความสุขและความทุกข์มีสาเหตุมาจากการกระทำของตนเอง
ไม่ได้พิจารณา แต่กลับไปเที่ยวโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นเหตุให้ตนลำบาก
หาอะไรโทษไม่ได้ก็มาโทษชื่อของตนเองว่าเป็นกาลกิณี เลยยอมเสียเงินทองเสียเวลาเพื่อให้หมอเปลี่ยนชื่อ
จนเกิดเป็นอาชีพรับตั้งชื่อกันก็มีอยู่มากมาย
ในอดีตกาล ลูกศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์
ชื่อนายบาป ไม่ชอบใจชื่อของตน จึงไปขอให้อาจารย์ตั้งชื่อให้ใหม่
อาจารย์จึงให้เขาออกเที่ยวหาชื่อเอาเองตามชอบใจ เมื่อได้กลับมาแล้วจะตั้งให้
เขาจึงออกเดินทางหาชื่อที่เหมาะสม เดินไปไม่นานเห็นคนหามศพผ่านไป
ถามทราบความว่า คนตายชื่อนายเป็น ถามเขาว่า ชื่อเป็นทำไมถึงตาย
ได้รับคำตอบว่า จะชื่ออะไรก็ตายทั้งนั้น เพราะชื่อเป็นสิ่งสมมติเพื่อรู้กันเท่านั้น
เขาเดินทางต่อไป เห็นเศรษฐีเจ้าหนี้กำลังทุบตีลูกหนี้ที่ไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยเสียที
ถามเขาว่าคนถูกตีชื่ออะไร ทราบว่า ชื่อนางรวย คนชื่อรวยกลับจนด้วยหรือ
ได้รับคำตอบว่า จะชื่ออะไร ไม่สำคัญ ถ้าไม่ขยันทำงานหาเงินก็จนได้ทั้งนั้นเเหละ
ชื่อมันเป็นสิ่งสมมติเท่านั้น
เขาจึงเดินทางต่อไป เดินผ่านดงใหญ่ได้ยินเสียงคนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปสอบถาม
ได้ความว่า เจ้าคนนั้นเดินหลงทางอยู่ในป่าหลายวันแล้วหาทางออกจากป่าไม่ได้
ถามเขาว่าชื่ออะไร ได้ฟังว่า ชื่อนายชำนาญทาง จึงถามต่อว่า ทำไมชื่อชำนาญ
ทางแต่หลงทาง ได้ฟังคำตอบว่า มันเป็นแต่เพียงชื่อที่สมมติเพื่อรู้กันเท่านั้น
ไม่ใช่ชำนาญจริงอย่างชื่อเมื่อไร
นายบาปจึงเดินทางกลับสำนัก ไปบอกอาจารย์ว่า หาชื่อถูกใจไม่ได้ขอใช้ชื่อเดิม
อาจารย์จึงกล่าวว่า
“เพราะเห็นคนชื่อเป็นแต่ตาย เห็นหญิงชื่อรวยแต่ยากจน เห็นนายชำนาญทางแต่หลงทางในป่า
นายบาปจึงได้กลับมา”
(นามสิทธิชาดก ชาดก เรื่องที่
๙๗ หน้า ๔๐ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙
เล่มที่ ๒๗ หน้า ๔๐)
๓. โลภมาก
ลาภหาย ความโลภไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งถ้าโลภจนตัวสั่นงันงกแล้ว(อภิชฌาวิสมโลภะ)
ยิ่งมองไม่เห็นอรรถไม่เห็นธรรมหรือไม่เห็นความผิดถูกแต่ประการใด
คิดแต่จะเอาให้ได้ฝ่ายเดียว
ในอดีต พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์มีภรรยาคนหนึ่งพร้อมธิดา
๓ คน เมื่อธิดาออกเรือนไปไม่นาน พระโพธิสัตว์ก็ทำกาลกิริยาไปเกิดเป็นหงส์ทอง
ระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นมนุษย์ คิดจะสงเคราะห์ภรรยา จึงบินมาสลัดขนทองให้ครั้งละหนึ่งขน
ทำให้อดีตภรรยาและธิดาได้เงินทองใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ต่อมา ฝ่ายอดีตภรรยาพูดกับธิดาว่า
“ธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานรู้ใจยาก ถ้าเวลาหงส์ทองพ่อของพวกเจ้าไม่มา
พวกเราจะลำบาก ทางที่ดีเราจะช่วยกันจับถอนเอาขนทองเสีย”
เมื่อหงส์ทองโพธิสัตว์กลับมา ภรรยาและธิดาต่างก็ช่วยกันจับถอนขนจนหมดสิ้น
เมื่อขนขึ้นมาใหม่กลับกลายเป็นขนสีขาวตามปกติ เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากถูลนันนทาภิกษุณีไปขอกระเทียมชาวบ้านเขา
เมื่อเจ้าของเขาให้แล้ว ไปถอนเอาของเขาจนหมดแปลง ทำให้ชาวบ้านเขาติเตียนว่าไม่รู้จักประมาณ
พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนี้แแล้วตรัสคาถาว่า
“บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินไปเป็นความชั่วแท้
นางพราหมณีจับเอาหงส์ทองถอนขนเสีย จึงเสื่อมจากทอง”
(สุวัณณหังสชาดก ชาดก เรื่องที่
๑๓๖ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่
๒๗ หน้า ๕๖)
๔. กระต่ายตื่นตูม คนที่ทำอะไรตาม ๆ คนอื่นเขาโดยไม่สืบสาวเรื่องราวให้ถ่องแท้ก่อนนั้น
เห็นวิบัติหมดเนื้อหมดตัวมามากแล้ว
ในอดีตกาล เจ้ากระต่ายตัวหนึ่งอาศัยหากินอยู่แถวดงตาลปนป่ามะตูม
เมื่อมันหากินแล้ว ก็เข้านอนใต้ใบตาลแห้งซึ่งอยู่ที่โคนต้นมะตูม
กำลังนอนคิดเพลินๆ ว่า ถ้าแผ่นดินถล่มจะทำอย่างไร บังเอิญขณะนั้น
มะตูมสุกลูกหนึ่งได้หล่นลงมาบนใบตาลแห้งที่มันนอนอยู่ภายใต้ เสียงดังตูมใหญ่
มันตกใจรีบหวิ่งหนีหน้าตั้งโดยไม่คิดจะหันหลังดู พวกเพื่อน ๆ เห็นมันวิ่งมาอย่างนั้นจึงร้องถามว่าวิ่งหนีอะไร
มันวิ่งไปบอกไปว่า แผ่นดินถล่ม กระต่ายจำนวนพันได้ฟังดังนั้น ก็วิ่งตามมันไป
สัตว์อื่น ๆ เห็นเข้า ก็ตะโกนถามว่าวิ่งหนีอะไร ได้ยินว่าแผ่นดินถล่ม
บรรดาสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น หมี ช้าง กวาง แรด เสือ ราชสีห์และสัตว์อื่น
ๆ ต่างก็รักตัวกลัวตายไม่มีใครที่จะคิดกลับไปดู สัตว์ทั้งหลายที่เหยียบกันตายนับประมาณไม่ได้
วิ่งกัน
มาฝุ่นตลบกลบปถพียิ่งกว่าแผ่นดินถล่ม กำลังจะถลันตกหน้าผาลงทะเลพอดี
ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์หากินอยู่แถวนั้น เห็นสัตว์ทั้งหลายกำลังจะตกทะเลตาย
จึงวิ่งไปยืนสกัดกั้นอยู่ข้างหน้าร้องถามไปว่าพวกท่านหนีอะไรกัน
บรรดาสัตว์ทั้งหลายเห็นราชสีห์ยืนคำรามอยู่ข้างหน้าต่างกลัวตาย
จึงร้องบอกว่า แผ่นดินถล่ม ราชสีห์ถามว่าใครเห็น ไม่มีใครบอกได้
ต้องไล่เลียงลงไปจนถึงเจ้ากระต่ายตัวต้นเรื่อง ราชสีห์จึงบังคับให้กระต่ายนำไปดูที่เกิดเหตุ
กระต่ายไม่ยอมไป ยืนกระต่ายขาเดียว ราชสีห์จึงให้สัตว์ทั้งหลายรออยู่
ตนเองให้กระต่ายตัวนั้นนั่งบนหลังแล้วนำไปดูที่เกิดเหตุ กระต่ายไม่ยอมเข้าไปใกล้ต้นมะตูมได้ร้องบอกว่า
ข้าพเจ้านอนอยู่ตรงนั้น แล้วเสียงมันดังตูมขี้น ราชสีห์จึงแสดงลูกมะตูมสุกให้กระต่ายดู
แล้วพากระต่ายกลับไปบอกสัตว์ทั้งหลายให้ทราบความจริง พระพุทธจ้าตรัสคาถาว่า
“กระต่ายได้ยินเสียงผลมะตูมสุกหล่นเสียงดังสนั่นก็วิ่งหนีไป
ฝูงสัตว์ฟังคำของกระต่ายต่างก็กลัวตัวสั่น พวกคนโง่เขลายังไม่ทันรู้เรื่องอย่างแจ่มแจ้ง
ฟังคนอื่นโจษขาน ก็พากันตื่นตระหนก เพราะพวกเขาเชื่อคนง่าย ส่วนพวกนักปราชญ์
สมบูรณ์ด้วยศีลและปัญญา ยินดีในความสงบ และเว้นไกลจากความชั่ว
ย่อมไม่เชื่อคนง่าย”
(ทุททุภายชาดก ชาดก เรื่องที่ ๓๒๒
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่
๒๗ หน้า ๑๗๔)
เรื่องที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้ เป็นเรื่องสอนใจทั่ว ๆ ไป ยังไม่สู้พิศดาร
ส่วนเรื่องที่ปรากฏใน มหานิบาต
ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความยาวเกินกว่า ๑๐๐ คาถาขึ้นไป เป็นพระชาติที่บำเพ็ญบารมี
๓๐ ประการมีทานบารมี ทานอุปบารมี และทานปรมัตถบารมี เป็นต้นที่เราคุ้นเคยและได้ยินได้ฟัง
ทั้งได้เห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังตามอารามต่าง ๆ เห็นว่า น่าจะเป็นขุมปัญญาที่น่าศึกษาอย่างยิ่งจึงได้นำบทนำพระไตรปิฎกเล่มที่
๒๘ มาเสนอไว้ ดังนี้
๑. เตมิยชาดก
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ในเวลาที่ทรงพระเยาว์
ทรงเห็นพระราชบิดาพิพากษาลงโทษพวกโจรแล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงอดีตชาติได้ว่า
พระองค์เคยเป็นพระราชาและพิพากษาลง
โทษคนเช่นนี้มาแล้ว และต้องไปเสวยผลกรรมในนรกเป็นเวลานาน ในชาตินี้จึงไม่ปรารถนาจะครองราชสมบัติและได้ทรงแกล้งทำเป็นคนใบ้
แม้จะถูกทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ มาตลอดเวลา แต่ก็ไม่ยอมเจรจา พระราชบิดาจึงได้รับสั่งให้นำตัวท่านไปฝังในป่าช้า
ทำให้ท่านได้โอกาสสอนนายสารถีแล้วเสด็จออกบรรพชา ต่อมาพระราชบิดาและชาวเมืองก็ได้ออกบรรพชาตามเป็นจำนวนมาก
๒. มหาชนกชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาชนก
ขณะพระมารดาทรงพระครรภ์ได้หนีข้าศึกไปอาศัยอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์
ที่เมืองกาละจัมปากะ เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาจนจบไตรเพทและศิลปศาสตร์
แล้วขออนุญาตพระมารดาเดินทางไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ แต่เรือแตกจมลงในมหาสมุทร
ในขณะที่ท่านกำลังว่ายน้ำช่วยเหลือตนเองอยู่ใน
มหาสมุทรเป็นวันที่ ๗ นั้น นางมณีเมขลาซึ่งเป็นเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทรได้ช่วยเหลือนำท่านไปส่งขึ้นฝั่งที่กรุงมิถิลา
ต่อมาอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้นได้อภิเษกพระมหาชนกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติ
ณ กรุงมิถิลา สืบต่อจากพระเจ้าโปลชนกผู้เป็นพระเจ้าอาซึ่งไม่มีพระราชโอรสมีแต่พระธิดา
เพราะพระองค์รับสั่งไว้ก่อนสวรรคตว่า ถ้าผู้ใดรู้ปริศนาธรรม ๑๖
ข้อ และทำให้พระราชธิดาสีวลีของเราพอพระทัยได้ ก็ให้พร้อมใจกันอภิเษกผู้นั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อไป
พระเจ้ามหาชนกทรงครองราชสมบัติด้วยทศพิธราชธรรม ทรงสร้างความเจริญมั่นคงและประชาชนก็อยู่เย็นเป็นสุข
จากนั้นจึงเสด็จออกบรรพชา แม้พระมเหสีจะทูลอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่ยอมเสด็จกลับ
ทรงบำเพ็ญฌานให้เกิดขึ้นและเมื่อดับขันธ์แล้ว ก็ได้ไปสู่พรหมโลก
๓. สุวรรณสามชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุวรรรณสามดาบส
เลี้ยงดูบิดามารดาผู้เป็นดาบสดาบสินีตาบอดอยู่ในป่า ต่อมาวันหนึ่งสุวรรณสามดาบสไปตักน้ำและถูกพระเจ้าปิลยักษ์ยิงด้วยลูกศร
ท่านได้ทูลถามพระเจ้าปิลยักษ์ว่า ยิงท่านทำไม พระองค์ตรัสตอบว่า
เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนไล่เนื้อให้หนีไป ก่อนจะสลบล้มลงไป ท่านได้ทูลขอร้องว่า
“ขอพระองค์โปรดช่วยเลี้ยงดูบิดามารดาแทนข้าพระองค์ด้วย”
พระเจ้าปิลยักษ์เข้าพระทัยว่าสุวรรณสามตายแล้ว จึงเสด็จไปนำบิดามารดาของสุวรรณสามมาดูศพ
เมื่อท่านทั้งสองมาดูแล้วจำได้ว่า เป็นบุตรของตนจริง ๆ จึงพากันร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา
จากนั้นจึงได้ทำสัจกิริยาขอให้พิษร้ายออกจากร่างกายของสุวรรณสาม
และมีเทพธิดาอีกองค์หนึ่งมาช่วยทำสัจกิริยาด้วย เมื่อสุวรรณสามฟื้นจากสลบแล้วจำความต่างๆ
ได้ จึงแสดงธรรมแก่พระเจ้าปิลยักษ์และให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ พระโพธิสัตว์ปรนนิบัติบิดามารดาจนท่านทั้งสอง
สิ้นชีวิตแล้ว จึงได้ดับขันธ์ไปสู่พรหมโลก
๔. เนมิราชชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช
ทรงบำเพ็ญฌาน สมาทานอุโบสถศีลมิได้ขาด ทรงชี้แจงทางสวรรค์แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
ประชาชนเหล่านั้นทำบุญแล้วตายไปเกิดในสวรรค์ เมื่อระลึกถึงอุปการคุณของพระราชาจึงให้มาตลีเทพบุตรนำเวชยันต์ราชรถไปรับพระเจ้าเนมิราชให้ขึ้นไปเยี่ยมชมสวรรค์
มาตลีเทพบุตรได้นำพระเจ้าเนมิราชไปชมนรกต่าง ๆ แล้วแสดงบุพกรรมของสัตว์นรกเหล่านั้นให้สดับ
จากนั้นได้นำไปชมสวรรค์ชั้นต่าง ๆ และแสดงบุพกรรม ของเหล่าเทวดาในสวรรค์แต่ละชั้นให้สดับ
ต่อจากนั้นจึงนำไปเยี่ยมท้าวสักกเทวราช พระเจ้าเนมิราชทรงแสดงธรรมแก่ท้าวสักกเทวราชและเทพบริวารเป็นจำนวนมาก
เมื่อมาตลีเทพบุตรนำพระเจ้าเนมิราชกลับมาส่งที่มนุษยโลกแล้ว พระองค์ทรงสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในบุญกุศลมีการให้ทานเป็นต้น
เมื่อพระเกษาหงอกแล้วได้เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญฌานสมาบัติให้เกิดขึ้น
และเมื่อสวรรคตแล้วจึงได้ไปสู่พรหมโลก
๕. มโหสธชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมโหสธบัณฑิต
เป็นผู้มีปัญญามากและเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เยาว์วัย ได้ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ให้สำเร็จลุล่วงจนเกียรติคุณแพร่ขจรไป พระเจ้าวิเทหะทรงทราบข่าว
จึงโปรดให้นำตัวไปเข้ารับราชการเป็นบัณฑิตประจำราชสำนัก
ในเบื้องต้นของการรับราชการประจำราชสำนัก มโหสธบัณฑิตไม่ได้รับความเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร
เพราะเหล่าบัณฑิตผู้อาวุโสมักจะหาเรื่องใส่ความอยู่เสมอ ๆ แต่มโหสธบัณฑิตได้ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ให้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาได้ทุกเรื่อง และต่อมาท่านได้คู่ครองที่เฉลียวฉลาดคอยช่วยแก้ไขปัญหาให้อีกด้วย
ภายหลังจากที่มโหสธบัณฑิตได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีแล้ว ท่านได้รับอาสาพระเจ้าวิเทหะยกกองทัพไปปราบพระเจ้าจูฬนี
พระเจ้าจูฬนีทรงยินยอมสงบศึกและขอร้องให้มโหสธบัณฑิตไปรับราชการอยู่กับพระองค์
เมื่อพระเจ้าวิเทหะสวรรคต มโหสธบัณฑิตจึงตัดสินใจเดินทางไปรับราชการอยู่ประจำในราชสำนักของพระเจ้าจูฬนีแห่งเมืองปัญจาละ
แต่ต้องประสบกับปัญหาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการถูกเหล่าอำมาตย์อาวุโสคอยใส่ความอยู่เสมอ
มโหสธบัณฑิตได้ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และได้นางปริพาชิกาคนหนึ่งคอยช่วยเหลือจนทำให้ปัญหาเหล่านั้นคลี่คลายไป
ต่อมานางปริพาชิกาคนนั้นได้ทูลขอให้พระเจ้าจูฬนีประกาศเกียรติคุณของมโหสธบัณฑิตให้ปรากฎในท่ามกลางมหาชนณฑิตให้ปรากฏในท่ามกลางมหาชน
โดยทำให้มหาชนเห็นความสำคัญของมโหสธบัณฑิตว่า พระเจ้าจูฬนีทรงยอมสละชีวิตของพระมารดา
พระเทวี พระราชโอรส พระสหาย ปุโรหิต และชีวิตของพระองค์ได้ แต่จะไม่ยอมสละมโหสธบัณฑิตให้แก่ผีเสื้อน้ำ
ทำให้เกียรติคุณของมโหสธบัณฑิตแพร่ขจรไกลไปทั่วทุกทิศ
มโหสธบัณฑิตรับราชการอยู่ประจำในราชสำนักของพระเจ้าจูฬนีท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคนานัปการ
แต่ท่านก็ได้ใช้ปัญญาอันเฉลียวฉลาดแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยลำดับ
เมื่อท่านสิ้นอายุแล้วจึงไปเกิดในเทวโลก
๖. ภูริทัตตชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัต
ได้ตั้งความปรารถนาอยากไปเกิดในเทวโลก จึงไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่งในถิ่นมนุษย์
แต่ถูกพราหมณ์หมองูผู้รู้มนตร์อาลัมพายนะจับตัวไปเที่ยวแสดงละครหาเงินตามสถานที่ต่าง
ๆ
ต่อมานาคพี่น้องชาย ๓ ตัวได้มาช่วยเหลือพญานาคภูริทัตให้รอดพ้นจากพราหมณ์หมองูไปได้
นาคพี่ชายมีความแค้นเคืองจึงคิดจะทำลายชีวิตพราหมณ์หมองูนั้น แต่ถูกนาคน้องชายซึ่งกลัวตกนรกห้ามปรามไว้
เพราะพราหมณ์หมองูผู้น ี้เป็นผู้รู้พระเวทและเป็นผู้สาธยายมนตร์
ใคร ๆ ไม่ควรทำลาย พญานาคภูริทัตได้ชี้แจงให้นาคน้องชายได้ทราบว่า
ความเข้าใจเช่นนั้นเป็นความเข้าใจผิด การปฏิบัติตามลัทธิของพราหมณ์เช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
พญานาคภูริทัตได้มุ่งมั่นรักษาอุโบสถศีลจนตลอดชีวิตแล้วจึงไปเกิดในเทวโลกตามความปรารถนาพร้อมด้วยบริษัทอีกเป็นจำนวนมาก
๗. จันทกุมารชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมารราชโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองบุปผวดี
ถูกพราหมณ์ปุโรหิตชื่อขัณฑหาละ ผู้มีจิตริษยาออกอุบายยุยงให้พระเจ้าเอกราชปลงพระชนม์เพื่อทำการบูชายัญด้วยสิ่งที่สละได้ยากแล้วไปเกิดในสวรรค์
พระเจ้าเอกราชทรงหลงเชื่อจึงรับสั่งให้จับพระจันทกุมารพร้อมด้วยคนอื่นอีกเป็นจำนวนมากแล้วให้นำไปมัดไว้ที่ปากหลุมบูชายัญ
แม้พระมเหสีจะทูลวิงวอนขอชีวิตพระจันทกุมาร แต่พระเจ้าเอกราชก็ไม่ทรงยินยอม
ท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จลงมาช่วยชีวิตพระจันทกุมาร และทรงตำหนิการกระทำของพระเจ้าเอกราชว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง
เมื่อพระจันทกุมารทรงรอดพ้นจากความตายแล้ว ประชาชนพากันรุมประชาทัณฑ์ขัณฑหาละปุโรหิตด้วยก้อนดินจนถึงแก่ความตาย
และปลดพระเจ้าเอกราชออกจากตำแหน่งพระราชาแล้วขับไล่ให้ไปเป็นคนจัณฑาลอยู่นอกเมือง
พร้อมทั้งอภิเษกพระจันทกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชย์ต่อไป
พระจันทกุมารทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงยึดมั่นอยู่ในกุศล และเสด็จไปบำรุงพระบิดาซึ่งถูกขับไล่ให้ไปอยู่นอกเมืองเป็นประจำ
เมื่อสวรรคตแล้วจึงไปเกิดในสวรรค์
๘. มหานารทกัสสปชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม
ชื่อนารทะ เห็นพระราชธิดาพระนามว่า รุจาของพระเจ้าอังคติที่ทรงพยายามเปลื้องพระราชบิดาให้พ้นจากความเห็นผิด
เพราะพระเจ้าอังคติทรงเชื่อถือคำสอนของคุณาชีวกที่ว่านรกไม่มี
โลกหน้าไม่มี บิดามารดาไม่มี บุญบาปไม่มี สัตว์จะดีจะชั่วก็ดีเอง
ชั่วเอง จากนั้นพระองค์ทรงละเว้นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแล้วหันมาเสวยสุราเมรัยและบริโภคกามคุณอย่างเดียว
พระราชธิดารุจาทรงพยายามชี้แจงให้เห็นว่า ความเชื่อเช่นนั้นเเป็นความเชื่อที่ผิด
เพราะนรกมี สวรรค์มี โลกนี้มี โลกหน้ามี บิดามารดามี บุญบาปมี
ฯลฯ เพราะพระองค์เคยประสบมาแล้ว เมื่อพระเจ้าอังคติทรงสดับแล้วพอพระทัยในคำชี้แจงของพระราชธิดา
แต่ยังหาคลายทิฏฐิไม่ พระราชธิดารุจาจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานให้สมณพราหมณ์หรือเทวดา
พระอินทร์ พระพรหมลงมาช่วย
เมื่อท้าวมหาพรหมทราบสัตยาธิษฐานแล้ว จึงลงมาแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติสดับ
ทำให้พระองค์ ๕ทรงคลายจากมิจฉาทิฏฐิแล้วทรงบำเพ็ญกุศลมีการให้ทานเป็นต้น
และเมื่อสวรรคตแล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์
๙. วิธุรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ชื่อวิธุระผู้สอนอรรถธรรมแด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะแห่งกรุงอินทปัตถ์
แคว้นกุรุ พระนางวิมลาเทวีมเหสีของพญานาควรุณได้ฟังกิตติศัพท์ของวิธุรบัณฑิตแล้วอยากจะฟังธรรมของท่านจึงออกอุบายลวงพญานาคผู้สามีว่า
แพ้ท้องอยากกินหัวใจของวิธุรบัณฑิต
พญานาควรุณจึงขอให้นางอิรันทดีบุตรีไปเที่ยวแสวงหาชายหนุ่มที่สามารถนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมายังนาคพิภพได้
แล้วจะยกนางให้เป็นภรรยา ปุณณกยักษ์เสนาบดีผู้หลงรักนางอิรันทดีมาเป็นเวลานานได้ทราบข่าว
จึงรับอาสาจะไปนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้ จากนั้นจึงเหาะไปที่กรุงอินทปัตถ์
แล้วท้าพนันเล่นสกากับพระเจ้าธนัญโกรัพยะว่า ถ้าตนแพ้ก็จะยกลูกแก้ววิเศษให้
แต่ถ้าพระองค์แพ้ก็ต้องยกวิธุรบัณฑิตให้ข้าพระองค์ ผลการเล่นพนันสกาปรากฏว่าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะทรงพ่ายแพ้จึงต้องยกวิธุรบัณฑิตให้แก่ปุณณกยักษ์เสนาบดีตามสัญญา
วิธุรบัณฑิตได้ขอร้องปุณณกยักษ์เสนาบดีให้พักอยู่ที่กรุงอินทปัตถ์ต่ออีกเป็นเวลา
๓ วัน เพื่อจะได้แสดงราชวสตีธรรม (คุณสมบัติของความเป็นข้าราชการที่ดี)
แก่บุตรธิดา วงศาคณาญาติและมิตรสหายที่กำลังรับราชการ หรือมีความประสงค์จะเข้ารับราชการในราชสำนักของพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ
เพื่อให้นำไปประพฤติปฏิบัติสำหรับเตรียมตัวเป็นข้าราชการที่ดีต่อไป
เมื่อครบกำหนด ๓ วันแล้ววิธุรบัณฑิตจึงไปทูลลาพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ
ออกเดินทางไปกับปุณณกยักษ์เสนาบดี
ปุณณกยักษ์เสนาบดีให้วิธุรบัณฑิตจับหางม้าสินธพมโนมัยพาเหาะไปจนถึงกาฬคิรีบรรพตแล้วคิดหาอุบายต่าง
ๆ นานา ที่จะฆ่าวิธุรบัณฑิตแล้วควักเอาเฉพาะหัวใจไป แต่วิธุรบัณฑิตได้แสดงสาธุนรธรรม
ให้ปุณณกยักษ์เสนาบดีฟังจนยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะฆ่า จากนั้นจึงพาวิธุรบัณฑิตเหาะไปมอบแก่พญานาควรุณถึงนาคพิภพโดยปลอดภัย
วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่พญานาควรุณและพระนางวิมลาเทวี ทำให้ทั้ง
๒ พระองค์ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงทำสักการะนานัปการแก่วิธุรบัณฑิตแล้วรับสั่งให้ปุณณกยักษ์เสนาบดีและนางอิรันทดีผู้ภรรยานำวิธุรบัณฑิตไปส่งที่กรุงอินทปัตถ์
แคว้นกุรุ พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะรับสั่งให้มีงานมหรสพที่กรุงอินทปัตถ์เป็นเวลา
๑ เดือน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของวิธุรบัณฑิต
วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่ประชาชน ถวายอนุสาสน์แด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะให้บำเพ็ญบุญมีการให้ทานและรักษาศีลอุโบสถ
เป็นต้น จนตลอดชีวิตแล้วไปสู่เทวโลก
๑๐. เวสสันตรชาดก
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระองค์ประสูติในวันที่พระราชบิดาทรงทำประทักษิณพระนคร
และพระราชมารดากำลังเสด็จชมร้านตลาด จึงทรงได้นามว่า
เวสสันดร พระองค์ทรงพอพระทัยในการบริจาคทานโดยที่สุดแม้ร่างกายและชีวิตก็ทรงบริจาคให้เป็นทานได้
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วได้ทรงบริจาคพญาช้างปัจจัยนาคให้แก่พราหมณ์
๘ คนที่มาทูลขอ ทำให้ชาวเมืองโกรธแค้นจึงรวมตัวกันขับไล่ให้ไปอยู่ที่เขาวงกต
แต่ก่อนที่จะเสด็จไปก็ทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน
แม้ในขณะที่กำลังเสด็จออกจากพระนคร มีผู้มาขอราชรถพร้อมทั้งม้าทรง
พระองค์ก็ทรงบริจาคให้เป็นทานอีก
พระเวสสันดรทรงพาพระนางมัทรี พระโอรส และพระธิดา ดำเนินด้วยพระบาทผ่านเมืองเจตราชไปถือเพศเป็นฤาษีอยู่
ณ บรรณศาลาที่เขาวงกต เสวยผลหมากรากไม้เป็นอาหาร เวลาผ่านไป ๗
เดือน พราหมณ์ขอทานชื่อชูชกได้เดินทางไปขอพระโอรสและพระธิดา คือ
ชาลีและกัณหาเพื่อนำไปเป็นทาสรับใช้ พระองค์ก็ทรงบริจาคให้ วันรุ่งขึ้นท้าวสักกเทวราชแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี
พระองค์ก็ทรงบริจาคให้อีก
พราหมณ์ชูชกพา ๒ กุมาร เดินทางไปถึงเมืองเชตุดร
พระเจ้าสญชัยทรงเห็นเข้า จึงโปรดให้นำพระราชทรัพย์มาไถ่พระราชนัดดาทั้ง
๒ องค์ ไว้ ต่อมาได้ให้พระราชนัดดานำทางไปรับพระเวสสันดรกลับพระนคร
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จกลับมาถึงพระนคร ฝนแก้ว ๗ ประการได้ตกลงมาทั่วพระนคร
พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงบริจาคมหาทานและรักษาอุโบสถตลอดพระชนมายุ
หลังจากสวรรคตแล้วจึงไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต
สรุปชาดก
เรื่องในชาดกทั้งหมดเป็นเรื่องที่กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ
บารมีที่บำเพ็ญนั้นคือ ทานบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี
ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี
รวมเรียกว่าบารมี ๓๐ (๓ x ๑๐) โดยแบ่งเป็นบารมีชั้นธรรมดา ๑๐ (บารมี)
บารมี ชั้นกลาง ๑๐ (อุปบารมี) และ บารมีชั้นสูง ๑๐ (ปรมัตถบารมี)
รวมเป็นบารมี ๓๐ ประการ
ในอรรถกถาจริยาปิฎกพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ ได้จัดชาดกเรื่องต่างๆ
ลงในบารมีทั้ง ๓๐ ประการ มีนัยโดยสังเขปที่น่าศึกษา ดังนี้
๑. ทานบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ยทานบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีวิราช
(๒๗/๔๙๙) ทรงบำเพ็ญทานอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
(๒๘/๕๔๗) และทรงบำเพ็ญทานปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกระต่ายป่าสสบัณฑิต
(๒๗/๓๑๖)
๒. ศีลบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญศีลบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัตทันต์เลี้ยงมารดา
(๒๗/๗๒) ทรงบำเพ็ญศีลอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญานาคภูริทัต
(๒๘/๕๔๓)
๓. เนกขัมมบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นอโยฆรราชกุมาร
(๒๗/๕๑๐) ทรงบำเพ็ญเนกขัมมอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นหัตถิปาลกุมาร
(๒๗/๕๐๙) และทรงบำเพ็ญเนกขัมมปรมัตถบารมี ในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจูฬสุตโสม
(๒๗/๕๒๗)
๔. ปัญญาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นสัมภวกุมาร
(๒๗/๕๑๕) ทรงบำเพ็ญปัญญาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์วิธุรบัญฑิต
(๒๘/๕๔๖) และทรงบำเพ็ญปัญญาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นเสนกบัณฑิต
(๒๗/๔๐๒)
๕. วิริยบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญากปิ
(๒๗/๕๑๖) ทรงบำเพ็ญวิริยอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีลวมหาราช
(๒๗/๕๑) และทรงบำเพ็ญวิริยปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก
(๒๘/๕๓๙)
๖. ขันติบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญขันติบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นจูฬธัมมปาลราชกุมาร
(๒๗/๓๕๘) ทรงบำเพ็ญขันติอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นธัมมิกเทพบุตร
(๒๗/๔๕๗) และทรงบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส
(๒๗/๓๑๓)
๗. สัจจบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญสัจจบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นวัฏฏกะ
(ลูกนกคุ่ม (๒๗/๓๕) ทรงบำเพ็ญสัจจอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน
(๒๗/๗๕) และทรงบำเพ็ญสัจจปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุตโสม
(๒๘/๕๓๗)
๘. อธิษฐานบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญากุกกุระ
(๒๗/๒๒) ทรงบำเพ็ญอธิษฐานอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นมาตังคบัณฑิต
(๒๗/๔๙๗) และทรงบำเพ็ญอธิษฐานปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเตมิยราชกุมาร
(๒๘/๕๓๘)
๙. เมตตาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสามดาบส
(๒๘/๕๔๐) ทรงบำเพ็ญเมตตาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกัณหาทีปายนดาบส
(๒๗/๔๔๔) และทรงบำเพ็ญเมตตาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเอกราช
๑๐. อุเบกขาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกัจฉปบัณฑิต
(๒๗/๒๗๓) ทรงบำเพ็ญอุเบกขาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญามหิส
(๒๗/๒๗๘) และทรงบำเพ็ญอุเบกขาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นโลมหังสบัณฑิต
(๒๗/๙๔)
หมายเหตุ เลขหน้าเป็นลำดับเล่มพระไตรปิฎก เลขหลังเป็นลำดับชาดก
เช่น (๒๗/๒๗๓) หมายถึง พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ชาดกเรื่องที่ ๒๗๓)
การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติหนึ่ง ๆ มิใช่ว่าจะทรงบำเพ็ญบารมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น ทรงบำเพ็ญทานบารมี หรือทรงบำเพ็ญศีลบารมีอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ในชาติเดียวกันนั้น ได้บำเพ็ญบารมีหลายอย่างควบคู่กันไป แต่อาจเด่นเพียงบารมีเดียว
ที่เหลือนอกนั้นเป็นบารมีระดับรอง ๆ ลงไป เช่น ในชาติที่เป็นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง
๑๐ บารมี คือ
เมื่อพระเวสสันดรประสูติได้ไม่นาน พระองค์ได้กราบทูลพระมารดาว่า
จะให้ทาน ขณะมีพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ทรงดำริที่จะบริจาคอวัยวะทั้งหมดให้เป็นทาน
(อัชฌัตติกทาน) เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วได้รับพระราชทานพญาช้างปัจจัยนาคราชแก่พวกพราหมณ์
และทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน ต่อมาเมื่อถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่เขาวงกตก็ได้ทรงบริจาคพระโอรส
พระธิดา และมเหสี และเมื่อเสด็จกลับมาครองราชสมบัติอีกก็ได้บริจาคทานตลอดพระชนมายุ
การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นทานบารมี
ในฐานะเป็นฆราวาส พระเวสสันดร สมาทานรักษาเบญจศีลเป็นนิตย์
และทรงสมาทานรักษาอุโบสถศีลทุกวันอุโบสถกึ่งเดือน การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นศีลบารมี
ขณะที่ถือเพศเป็นดาบสอยู่ที่เขาวงกต พระเวสสันดรทรงละกามคุณอย่างเด็ดขาด
การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นเนกขัมมบารมี
การดำริที่จะบริจาคอวัยวะทั้งหมดให้เป็นทานก็ตาม การบรรเทาความเศร้าโศกอันเกิดจากการบริจาคพระโอรส
พระธิดาด้วยปัญญาก็ตาม การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นปัญญาบารมี
ขณะที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จออกโรงทานทั้ง
๖ แห่ง ทุกกึ่งเดือน และขณะที่ทรงถือเพศเป็นดาบสอยู่ที่เขาวงกตนั้น
พระองค์ทรงตั้งพระทัยบูชาเพลิง และบำเพ็ญเตโชกสิณอยู่เป็นนิตย์
การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นวิริยบารมี
เมื่อพระราชบิดาทรงเนรเทศให้ออกจากพระนครตามความประสงค์ของชาวเมือง
และเมื่อพราหมณ์ชูชกเฆี่ยนตีพระโอรสพระธิดา ณ เบื้องพระพักตร์
พระองค์ก็ทรงอดกลั้นความรู้สึกเหล่านี้ได้ การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นขันติบารมี
พระเวสสันดรทรงปฏิญาณที่จะบริจาคอวัยวะทั้งหมดและพระโอรสพระธิดาให้เป็นทาน
การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นสัจจบารมี
เมื่อทรงปฏิญาณอย่างแน่วแน่ ไม่ทำความอาลัยในพระโอรสพระธิดาที่จะทรงบริจาคให้เป็นทาน
แม้จะทรงสะดุ้งกลัวต่อเสียงตำหนิติเตียนของหมู่เสวกามาตย์จนต้องเสด็จขึ้นไปบนภูเขา
แต่เมื่อพระนางมัทรีเสด็จขึ้นไปปลอบแล้ว พระองค์ก็ทรงอธิษฐานใจอย่างมั่นคง
การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นอธิษฐานบารมี
การแผ่เมตตาให้แก่ชาวกาลิงคราษฎร์ที่มาขอพระราชทานพญาช้างปัจจัยนาคก็ตาม
การแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ในระหว่างทรงถือเพศเป็นดาบสประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่เขาวงกตก็ตาม
การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นเมตตาบารมี
พระเวสสันดรทรงตัดความเสน่หาในพระโอรสพระธิดาโดยมิได้โกรธแค้นพราหมณ์ชูชกที่มาขอ
พร้อมทั้งทรงตั้งพระทัยเป็นกลางโดยมิได้รักหรือชังผู้ใด การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นอุเบกขาบารมี
บารมี ๓๐ ประการนี้เป็นขุมทรัพย์ในชาดก
|