ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบท


พระมหาสุเทพ อคฺคเมธี เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 165 - 196

ธรรมบท เป็นชื่อของคัมภีร์หนึ่ง ในจำนวน ๑๕ คัมภีร์ ของพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕
คำว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คัมภีร์ธรรมบทจึงเป็นคัมภีร์รวบรวมบทธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตแก่บุคคลต่าง ๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างสถานที่ เป็นบทธรรมสั้น ๆ ในรูปคาถา ประพันธ์เป็นบทร้อยกรองหรือบทกวี ตามหลักฉันทลักษณศาสตร์ ผู้อ่านสามารถจดจำได้ง่าย และมีความไพเราะลึกซึ้งมาก ที่สำคัญคือ ธรรมบทแต่ละบทล้วนเป็นสัจจธรรม และถือว่าเป็นอมตวาจาของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว นัยว่า บรรดาคัมภีร์ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากที่สุด ธรรมบทจึงเป็นเพชรงามน้ำเอกชั้นเยี่ยมที่ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
การศึกษาธรรมบท ควรศึกษาหนังสืออธิบายธรรมบทด้วย ซึ่งเรียกว่า อรรถกถาธรรมบท เป็นหนังสือที่พระภิกษุสามเณรผู้เริ่มต้นเรียนภาษาบาลี จะต้องแปลให้ได้ เพราะเป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน
ในธรรมบทนี้ มีบทธรรม ๔๒๓ บท โดยนับตามจำนวนคาถา ถ้านับเป็นเรื่อง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมีจำนวนมากถึง ๓๐๒ เรื่อง เรื่องเหล่านี้ท่านจัดรวมกันเป็นหมวด เรียกว่า วรรค มีจำนวน ๒๖ วรรค ในแต่ละวรรคมีหัวข้อธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก หัวข้อธรรมเหล่านี้เป็นพุทธวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนบุคคลต่าง ๆ ในต่างสถานที่ ต่างเวลา จะขอหยิบยกมาอธิบายเป็นตัวอย่างเป็นบางบทเท่านั้น แต่พึงทราบว่า ธรรมบทนั้นมีความสำคัญทุกบท หากได้นำมาเป็นแนวทางในการทำความดีก็จะได้รับประโยชน์สมดังปรารถนาทุกประการ พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบทแต่ละวรรคนั้น ดังนี้

๑. ยมกวรรค
หมวดธรรมที่เป็นคู่

ในวรรคนี้ พระพุทธองค์ตรัสสอนธรรมเป็นคู่ ๆ เช่น เรื่องคนใจดีกับคนใจชั่ว เรื่องผู้ผูกเวรกับผู้ไม่ผูกเวร เรื่องความสามัคคีกับความแตกสามัคคี ทรงชี้ให้เห็นคุณของธรรมฝ่ายดี และชี้ให้เห็นโทษของธรรมฝ่ายชั่ว พร้อมทั้งแนวทางในการทำดีละเว้นชั่ว เช่น ทรงสอนให้เห็นผลของการมีความคิดชั่วว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ


ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็พูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป

ในทางตรงกันข้ามก็ทรงสอนให้เห็นผลของการมีความคิดดีว่า

มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมนฺเวติ ฉายา ว อนุปายินี


ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย
เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น

ทรงสอนให้รู้จักเปรียบเทียบระหว่างผลของความดีกับผลของความชั่ว แล้วเลือกปฏิบัติตามธรรมที่คิดว่าจะทำให้ได้รับผลดีที่สุด
อนึ่ง การที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมบทแต่ละบทนั้น ล้วนแต่มีที่มาหรือสาเหตุทั้งนั้น แต่ในคัมภีร์ธรรมบทจริง ๆ จะไม่ปรากฏที่มาของเรื่อง จะปรากฏเพียงคาถาสุภาษิตเท่านั้น หากต้องการทราบรายละเอียดความเป็นมา ควรศึกษาจากอรรถกถา จะยกตัวอย่างธรรมบทอีกบทหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของสุภาษิตไทยที่ว่า “เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร” คือ

น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน


เพราะว่า ในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร
นี้เป็นธรรมเก่า
ถ้าเราได้อ่านอรรถกถา ก็จะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น เพราะท่านได้เล่าเรื่องประกอบพุทธภาษิตนี้ไว้ด้วย อ่านแล้วสนุกมากเช่นเรื่องที่เป็นเหตุให้ตรัสธรรมบทบทนี้ ดังจะนำมาเล่าไว้โดยย่อเพื่อเป็นตัวอย่าง ต่อไปนี้

กำเนิดยักษิณี
มีบุตรของผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง หลังจากที่พ่อตายแล้ว ต้องทำงานคนเดียว มารดาสงสารจึงคิดจะหาหญิงสาวมาเป็นภรรยาให้ แม้เขาจะปฏิเสธอย่างไรมารดาก็ไม่ยอม ในที่สุด จึงต้องแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง บังเอิญหญิงที่เขาแต่งงานด้วยเป็นหมัน มารดากลัวว่าจะไม่มีใครสืบต่อวงศ์ตระกูล จึงบอกว่าจะหาหญิงสาวคนอื่นมาให้ใหม่
ขณะนั้น หญิงหมันได้ยินคำนั้นจึงเกิดความกลัวขึ้นว่า “ถ้าสามีมีภรรยาใหม่และมีลูกให้เขา ภรรยาใหม่จะต้องใช้เราอย่างทาสเป็นแน่ เราควรจะหาสาวน้อยสักคนหนึ่งมาเสียเองจะดีกว่า” เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงไปขอสาวน้อยคนหนึ่งมาเป็นภรรยาของสามี
ต่อมา หญิงหมันกลัวว่า ถ้าภรรยาน้อยมีบุตรจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ของสามี (ตามธรรมเนียม) จึงคิดหาอุบายที่จะไม่ให้ภรรยาน้อยมีบุตร วันหนึ่ง จึงไปบอกภรรยาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์เมื่อไรก็ให้บอก พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ก็ได้บอกแก่นาง
ตอนแรก หญิงหมันก็ทำทีเป็นใจดี โดยการนำข้าวน้ำมาเลี้ยงดูอย่างดี พอภรรยาน้อยตายใจก็แอบผสมยาทำแท้งลงไปในอาหาร ในที่สุดครรภ์ก็แท้ง ครั้งที่ ๒ ครรภ์ก็แท้งอีก พวกเพื่อน ๆ ของภรรยาน้อยจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อทราบเรื่องว่าทุกครั้งที่ตั้งครรภ์จะต้องบอกให้หญิงหมันรู้ ทุกคนก็รู้ทันทีว่าหญิงหมันผสมยาทำแท้งให้นางกิน ครั้งต่อไปจึงห้ามมิให้บอกเรื่องตั้งครรภ์แก่หญิงหมัน
ครั้งที่ ๓ หญิงหมันถามอย่างไร ภรรยาน้อยก็ไม่บอก เมื่อครรภ์แก่ขึ้น ๆ หญิงหมันได้โอกาสจึงแอบผสมยาทำแท้งลงไปในอาหาร ภรรยาน้อยซึ่งมีครรภ์แก่กินเข้า ครรภ์ก็แท้งอีก แต่ครั้งนี้ เนื่องจากครรภ์แก่ทำให้นางได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส และถึงแก่ความตายในที่สุด ก่อนตายนางผูกอาฆาตว่า
“เจ้าทำให้ลูกข้าตายถึง ๓ คน ครั้งนี้ข้าเองต้องตาย เกิดชาติหน้า ขอให้ข้าเกิดเป็นนางยักษิณี ได้เคี้ยวกินลูกของเจ้า”
ผูกอาฆาตจองเวรเสร็จนางก็ตายไปเกิดเป็นแมวที่บ้านหลังนั้นนั่นเอง
ฝ่ายสามีทราบเรื่องเข้าก็โกรธจัด จึงทุบตีหญิงหมันลงศอกตอกเข่าจนหญิงหมันตายคาที่ และได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเหมือนกัน
ผลัดกันจองเวรคนละชาติ
แม่ไก่ตกฟองทีไร แมวก็ดอดมากินเกลี้ยงถึง ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายกินแม่ไก่ด้วย
แม่ไก่จึงจองเวรว่า “ตายแล้วขอให้ข้าได้กินลูกของเจ้า” พอตายไปก็ไปเกิดเป็นแม่เสือ ฝ่ายแมวได้ไปเกิดเป็นแม่เนื้อ
พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือก็แอบมากินถึง ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายกินแม่เนื้อด้วย
แม่เนื้อจึงจองเวรว่า “ตายไปขอให้ได้กินลูกของมันบ้าง” แล้วตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี ฝ่ายแม่เสือได้ไปเกิดเป็นกุลธิดาในเมืองสาวัตถี ต่อมานางได้สามี ขณะคลอดบุตรอยู่ในห้อง นางยักษิณีได้แปลงร่างเป็นเพื่อนรักของนางเข้าไปในห้องแล้วจับเด็กกินถึง ๒ ครั้ง
ครั้งที่ ๓ นางได้หนีไปคลอดบุตรที่อื่น ขากลับได้เดินผ่านมาทางวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ฝ่ายนางยักษิณีก็ตามจองล้างจองผลาญมาถึงวิหารนั้นพอดี แต่เข้าวิหารไม่ได้เพราะมีเทวดาคอยรักษาอยู่ พระพุทธเจ้าจึงให้ท่านพระอานนท์
ไปเรียกนางยักษิณีมาแล้วตรัสสอนไม่ให้ผูกเวรกัน เป็นคาถาหรือบทกวี ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เวรทั้งหลายย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร (ขุ.ธ.อ. ภาค ๒ กาลียักขินีวัตถุ)

๒. อัปปมาทวรรค
หมวดความไม่ประมาท

ในวรรคนี้ ทรงสอนให้ทำความดีตามแนวอัปปมาทธรรม คือ ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้ถือว่าเป็นยอดแห่งธรรม เพราะธรรมทั้งหมดรวมลงในความไม่ประมาท เหมือนรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิดรวมลงในรอยเท้าช้าง
หน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อความไม่ประมาท คือ รักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐไว้ แต่การจะรักษาความไม่ประมาทได้นั้น จะต้องอาศัยปัญญาจึงจะรักษาไว้ได้
ผลจากการไม่ประมาท ผู้ปฏิบัติตามความไม่ประมาทนั้น จะได้รับผลดีมากมาย เช่น
-พระจูฬปันถกท่องหนังสือเพียง ๔ บรรทัดไม่ได้ เมื่อไม่ประมาทก็บรรลุอรหัตตผล พร้อมกับปฏิสัมภิทา มีมโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ) สามารถเนรมิตกายได้เป็น ๑,๐๐๐ องค์
-ในเรื่องภิกษุสองสหาย คือ รูปหนึ่งขยันไม่ประมาท อีกรูปหนึ่งประมาท ทรงเปรียบเทียบไว้อย่างยอดเยี่ยมว่า

ผู้มีปัญญาดี เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก ในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล
เหมือนม้าฝีเท้าจัด วิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไไว้ ฉะนั้น

ความไม่ประมาทย่อมให้ผลไปจนตาย เช่น ครั้งหนึ่ง พระนางสามาวดี พระชายาของพระเจ้าอุเทน พระนางเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามาก ต่อมา ถูกพระนางมาคันธิยาพระชายาอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนสั่งให้จุดไฟเผาตายทั้งเป็นพร้อมกับบริวารอีก ๕๐๐ นาง การตายของพระนางทำให้พระราชาทรงโทมนัสยิ่งนัก ทรงกริ้วมาก จึงรับสั่งให้จับพระนางมาคันธิยาเผาไฟตายทั้งเป็นเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระนางสามาวดีเป็นพระโสดาบัน ผู้เข้าถึงกระแสนิพพาน จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนี้จึงได้ตรัสพระคาถาธรรมบทเพื่อเป็นคติสอนใจว่า

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปท
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา ฯเปฯ


ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งอมตะ (ความไม่ตาย)
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาท จึงเหมือนคนตายแล้ว ฯลฯ

๓. จิตตวรรค
หมวดจิต

ในวรรคนี้ ทรงสอนให้ปฏิบัติโดยการควบคุมจิต เพราะธรรมชาติของจิตคือ ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยากต้องควบคุมให้ตรง เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง จิตนี้มักดิ้นรนไปมาเหมือนปลาที่ถูกจับขึ้นมาไว้บนบก เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ (คือกาย)
วิธีฝึกจิต คือ ต้องมีปัญญา กำจัดราคะ โทสะ มีสติ ในอรรถกถากล่าวว่า ต้องฝึกด้วยอริยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๘) พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า การฝึกจิตเป็นการทำความดีประการหนึ่ง
ผลดีจากการฝึกจิต การฝึกจิตทำให้ได้รับผลมากมาย ดังที่ตรัสไว้ในหลายแห่ง เช่น

จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ทูรํคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา

คนเหล่าใดสำรวมจิต
ที่เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว
ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ
คนเหล่านั้น จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

น ตํ มาตา ปิตา กยิรา
อญฺเญ วาปิ จ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร

จิตที่ตั้งไว้ชอบ ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ทำให้ไม่ได้
ผลร้ายจากการไม่ฝึกจิต การปล่อยจิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ย่อมให้ผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะจิตมักจะใฝ่หาแต่อารมณ์ที่น่าปรารถนา และห้ามได้ยาก การปล่อยจิตเช่นนี้จึงให้ผลร้ายต่าง ๆ ดังที่ตรัสไว้ในธรรมบทว่า

ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม
มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหาย ที่โจรเห็นโจร
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน

๔. ปุปผวรรค
หมวดดอกไม้

ในวรรคนี้ ทรงสอนธรรมโดยเปรียบเทียบกับสิ่งธรรมชาติ คือ ดอกไม้ ทรงเปรียบเทียบดอกไม้กับกิเลสบ้าง เปรียบเทียบอาการเก็บดอกไม้กับอาการในการปฏิบัติธรรมบ้าง ธรรมบทแต่ละบทสามารถนำมาเป็นแนวทางในการทำความดีได้อย่างชัดเจน เช่น ทรงสอนว่า
-ให้เลือกบทธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้
-ตัดพวงดอกไม้ของมารได้แล้ว ก็จะไปถึงสถานที่ที่มัจจุราชหาไม่พบ
-มฤตยูย่อมฉุดคร่านรชน ผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้ (คือกามคุณ) เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลไป ฉะนั้น
บางบท ทรงสอนให้ภิกษุรู้จักประมาณในการขอ เพราะคนที่จะให้ทาน บางคนก็เป็นคนตระหนี่ ไม่ควรทำให้เขารำคาญ โดยทรงเปรียบเทียบกับแมลงภู่ว่า

ภมรไม่ทำลายดอก สี และกลิ่น
ดูดแต่น้ำหวานแล้วบินไป ฉันใด
มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น
ทรงสอนให้ทำความดีให้มาก เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัย และทรงแนะนำให้รักษาศีล เพราะกลิ่นแห่งศีลหอมยิ่งกว่ากลิ่นดอกไม้หรือกลิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล และกลิ่นดอกมะลิ
ถ้าได้อ่านพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ (สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๔๑-๑๔๕/๗๕-๗๖) ก็จะพบว่ากลิ่นจันทน์เป็นต้นล้วนเป็นสุดยอดแห่งกลิ่นหอมทั้งปวง แต่ในธรรมบทนี้ พระองค์ตรัสว่า เป็นกลิ่นหอมเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลิ่นศีล

๕. พาลวรรค
หมวดคนพาล

ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องคนพาล คือ คนโง่ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ไม่รู้จักพระสัทธรรม ทรงเน้นให้เห็นโทษของความเป็นคนพาล และวิธีปฏิบัติต่อคนพาล ทรงเปรียบเทียบระหว่างคนพาลกับบัณฑิต ผู้ประสงค์จะทำความดีตามแนวทางในธรรมบทวรรคนี้ คงจะต้องตรวจสอบว่า เรามีลักษณะของคนพาลอยู่หรือไม่ ถ้าเรามีลักษณะดังกล่าวนั้นก็ต้องรีบแก้ไข จะทำให้เราเป็นบัณฑิตได้บ้าง ดังที่ตรัสไว้บทหนึ่งว่า

คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้
คำว่า พาล ในที่นี้ มิใช่เฉพาะคนทั่วไปเท่านั้น แม้แต่พระภิกษุ ถ้าปฏิบัติตนไม่ดีก็เป็นคนพาลเช่นกัน ครั้งหนึ่ง ทรงตักเตือนเจ้าอาวาสบางรูปที่ประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ให้ระเริงหลงในอำนาจของตนเองจนเกิดความถือตัวว่าดีกว่าคนอื่น ดังความว่า

ภิกษุพาล ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย
ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ได้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”
ความริษยา และความถือตัว จึงเกิดพอกพูนขึ้น
โทษของความเป็นคนพาล คนพาลแม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่ ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง
ท่าทีที่ควรปฏิบัติต่อคนพาล ทรงสอนให้หลบหลีกคนพาล โดยตรัสว่า หากบุคคลเที่ยวหาคนที่ดีกว่าตนหรือเสมอกับตนไม่ได้ ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง เพราะจะหาความเป็นเพื่อนในคนพาลไม่ได้เลย (นตฺถิ พาเล สหายตา)

๖. ปัณฑิตวรรค
หมวดบัณฑิต

ในวรรคนี้ ทรงสอนให้เป็นบัณฑิต ให้คบบัณฑิต คำว่า บัณฑิต หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ประการ โดยสรุปก็คือ ผู้คิดดี ทำดี พูดดี ถ้าพบบัณฑิตเช่นนี้ ให้คบท่านไว้ ก็จะมีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมเลย ถึงแม้ท่านจะชี้โทษ ก็ให้ถือว่าท่านเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์
วิธีทำตนให้เป็นบัณฑิต การที่จะเป็นบัณฑิตได้นั้น ทรงแนะนำให้ฝึกฝนตนเอง ดังธรรมบทที่ว่า

คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
บัณฑิต ย่อมฝึกตน

มีผู้แต่งเป็นบทกวีไว้น่าฟังว่า

ช่างเหมืองย่อม ทดน้ำ ทำระหัด ช่างศรดัด ลูกธนู ให้อยู่ที่
ช่างถากแต่ง ตัวไม้ ให้รูปดี ท่านผู้มีวัตรงาม ปราบปรามตน
นอกจากนี้ ทรงแสดงลักษณะของบัณฑิตว่า ต้องไม่ทำบาปเพราะตนหรือเพราะบุคคลอื่น ไม่หาทรัพย์โดยทางมิชอบ แต่ให้มีศีล มีปัญญา ยึดมั่นอยู่ในธรรม เป็นต้น

๗. อรหันตวรรค
หมวดพระอรหันต์

ในวรรคนี้ ทรงแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ ซึ่งควรถือเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีและควรปฏิบัติตามแนวทางของท่านคุณสมบัติของพระอรหันต์ในที่นี้ คือ ไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย ไม่ติดอาลัย บรรลุนิพพาน เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนา จะอยู่ ณ สถานที่ใด ๆ จะเป็นบ้านหรือป่าก็ตาม สถานที่นั้น ๆ ย่อมเป็นที่รื่นรมย์ เพราะท่านไม่แสวงหากามอีกต่อไป

๘. สหัสสวรรค
หมวดหนึ่งในร้อยในพัน

ในวรรคนี้ ทรงสอนให้เราทราบว่า อะไรคือสาระของชีวิต อะไรคือความไร้สาระของชีวิต การกระทำอย่างไรมีสาระ อย่างไรไร้สาระ ทรงเปรียบเทียบชีวิตหรือการกระทำที่มีสาระจำนวน ๑ ว่ามีคุณค่ามากว่าชีวิตหรือการกระทำที่ไร้สาระจำนวน ๑,๐๐๐
มีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งรับหน้าที่เป็นเพชฌฆาต ฉายา “เพชฌฆาตเคราแดง” เขาทำหน้าที่ตัดหัวโจรและคนทำผิดเป็นจำนวนมาก นานถึง ๕๕ ปี ต่อมา ในวัยแก่ เขาหมดแรง ไม่สามารถตัดหัวให้ขาดได้ภายในดาบเดียว ต้องตัดถึง ๒-๓ครั้ง ทำให้คนที่ถูกตัดหัวทรมานมาก จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง วันที่ถูกปลดมีการฉลอง มีการเตรียมอาหารอย่างดีให้เขาขณะที่เขาจะลงมือรับประทาน สายตาก็เหลือบไปเห็นท่านพระสารีบุตรเดินบิณฑบาตมาพอดี จึงเกิดความเลื่อมใสนำอาหารมาตักบาตรท่าน พระเถระก็อนุโมทนา แต่เขาไม่เข้าใจเพราะมัวแต่นึกถึงบาปกรรมที่ทำไว้ พระเถระจึงพูดให้เขาเข้าใจว่า การกระทำตามหน้าที่ไม่มีบาป เขาก็นึกว่าจริง พอได้ฟังธรรมอีกนิดหน่อยก็เข้าใจธรรม หลังจากพระเถระกลับไปไม่นาน เขาถูกวัวขวิดตาย ได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต
ภิกษุหลายรูปทราบเรื่องนี้จากพระพุทธองค์ ต่างก็เกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่คนทำชั่วมานานป่านนี้กลับได้ดี พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมบทว่า

คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียว
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คำ

อีกบทหนึ่ง ทรงสอนเรื่องการชนะที่แท้จริงว่า

ผู้ชนะข้าศึกจำนวนพันคูณด้วยพัน ในสงคราม
หาชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมไม่
แต่ผู้ชนะตนได้ จึงชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม
ในเรื่องคุณค่าของชีวิต ทรงสอนไว้ในวรรคนี้ว่า ผู้มีศีล มีปัญญา มีความเพียร เห็นความเกิดดับ(ของขันธ์ ๕) เห็นทางอมตะ เห็นธรรมขั้นสูงสุด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่าผู้ไม่มีศีล เป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

๙. ปาปวรรค
หมวดบาป

ในวรรคนี้ ทรงสอนให้รู้จักบุญและบาป รวมทั้งผลของบุญและบาปว่ามีความแตกต่างกัน ให้พยายามรีบเร่งทำบุญละเว้นบาป บุญต้องหาบ บาปต้องละ ถ้าทำบุญช้า บาปมักจะเข้ามาแทนที่ ดังที่ตรัสไว้ว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ ปาปสฺมึ รมตี มโน


บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ ควรห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป

มีผู้แต่งเป็นกลอนไว้ดังนี้
พึงเร่งทำ กรรมดี แก่ชีวิต พึงห้ามจิต จากชั่ว ความมัวหมอง
เพราะถ้าทำ ดีเนิ่น เพลินลำพอง ใจย่อมปอง ในชั่ว กลั้วมลทิน
อนึ่ง ทรงสอนให้ทำบุญบ่อย ๆ เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ แต่เป็นธรรมดาที่คนเราอาจทำผิดพลาดได้ ในทำนองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี เช่น ครั้งหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญจนกลายเป็นคนยากจน เทวดาผู้รักษาประตูขอร้องให้ท่านเลิกทำ ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมเลิกทำบุญ ซ้ำยังขับไล่เทวดาให้ออกจากบ้านท่าน เทวดาสำนึกผิด จึงไถ่โทษด้วยการหาขุมทรัพย์ใต้ดินที่ไร้เจ้าของมาให้ท่าน ทำให้ท่านกลับมาร่ำรวยอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์นี้ทำให้พระพุทธองค์ตรัสธรรมบทเป็นการสอนให้เห็นผลกรรมว่า

ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติ ฯเปฯ


ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

หลักคำสอนที่สำคัญบทหนึ่ง คือ ทรงสอนไม่ให้ดูหมิ่นบาปหรือบุญว่ามีเพียงเล็กน้อย ดังที่ตรัสไว้ว่า

มาวมญฺเญถ ปาปสฺส น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ ฯเปฯ
 
บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักมาไม่ถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนพาลเมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กละน้อย
เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น
ทำบาปแล้วหนีไม่พ้น ผู้ทำบาปแล้วไม่ว่าจะหลบไปอยู่ในที่ใด ๆ ก็ไม่พ้นบาป ได้ ดังที่ตรัสไว้ว่า

น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ
น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวีสํ ฯเปฯ


คนทำบาปถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว จะพ้นจากบาปกรรมได้


มีผู้แต่งเป็นกลอนไว้ว่า
จะซ่อนกาย ในกลีบเมฆ กลางเวหา ซ่อนกายา กลางสมุทร สุดวิสัย
จะซ่อนตัว กลางป่าเขา ลำเนาไพร ณ ถิ่นใด พ้นบาปนี้ ไม่มีเลย
คติภพของคนทำบาปหรือทำบุญ คนเราจะเกิดในภพใดคติไหน ขึ้นอยู่กับบุญที่เราทำกรรมที่เราสร้าง พระองค์ตรัสคติภพของสัตว์ไว้อย่างชัดเจนว่า

สัตว์พวกหนึ่ง ย่อมเกิดในครรภ์
พวกที่ทำบาปกรรม ย่อมไปนรก
พวกที่ทำความดี ย่อมไปสวรรค์
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมนิพพาน

๑๐. ทัณฑวรรค
หมวดอาชญา

ในวรรคนี้ ทรงสอนเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนผู้อื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน หรือพูดวาจาหยาบคายให้ร้ายป้ายสี ทรงชี้ให้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายรักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ควรเบียดเบียนกัน ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น จะได้รับโทษต่าง ๆ เช่น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เสื่อมทรัพย์ ถูกทำร้าย
อนึ่ง ทรงสอนให้เว้นการลงทัณฑ์ ให้อยู่เหมือนพราหมณ์ (ผู้ลอยบาป) สมณะ (ผู้สงบ) ภิกษุ (ผู้ทำลายกิเลส)
ธรรมบทในวรรคนี้ เหมาะสำหรับนักบริหาร ผู้ปกครอง และบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย เพราะทรงชี้ให้เห็นว่า ก่อนจะลงทัณฑ์ลงโทษใคร ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก โดยใช้เมตตาธรรม ถ้าลงโทษโดยไม่ใคร่ครวญ ผู้ลงโทษอาจได้รับโทษเสียเอง พึงระลึกอยู่เสมอว่า แม้ไม่มีการลงทัณฑ์ลงอาชญา ทุกชีวิตก็ต้องถูกความแก่ชราต้อนเข้าไปสู่ความตายทุกคน ดังธรรมบทในวรรคนี้ที่ว่า

ยถา ทณฺเฑน โคปาโล คาโว ปาเชติ โคจรํ ฯเปฯ


คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่โค ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด
ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น

๑๑. ชราวรรค
หมวดความชรา

ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องความชรา คือ ความแก่ ความทรุดโทรม ซึ่งเป็นเสมือนไฟเผาผลาญชีวิตสรรพสัตว์อยู่เป็นนิตย์ ความแก่ชรานี้ แม้จะเป็นความจริงด้านหนึ่งของชีวิต แต่ก็ไม่เป็นที่น่าปรารถนาของมนุษย์ไม่ว่าหญิงหรือชาย หากสอนเรื่องนี้ด้วยวิธีการธรรมดา อาจไม่เป็นที่พอใจของผู้ฟัง และไม่เกิดประโยชน์มากนัก ในธรรมบทวรรคนี้ ทรงใช้วิธีการสอนต่าง ๆ กัน เช่น ทรงสอนนางอุตตราภิกษุณีผู้มีอายุ ๑๒๐ ปีว่า “ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นที่อาศัยของโรค แตกทำลายง่าย ร่างกายอันเน่าเหม็นนี้ จักแตกสลายพังพินาศ เพราะชีวิตสิ้นสุดลงที่ความตาย”
ผลจากธรรมบทนี้ ทำให้นางอุตตราภิกษุณีบรรลุเป็นพระโสดาบัน
แก่อย่างมีคุณค่า แม้ชีวิตจะต้องแก่ชราไปตามกาลเวลา ถ้ารู้จักแสวงหาปัญญา และไม่ประมาท ไม่มัวเมาหลงระเริงอยู่ในโลก ก็เป็นการแก่อย่างมีคุณค่า ไม่แก่เปล่า ถ้าไม่มีปํญญาย่อมแก่เปล่า ดังที่ตรัสว่า “คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ ย่อมแก่ไปเปล่า เหมือนโคพลิพัท (โคผู้ทรงพลัง)เจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่”
ครั้งหนึ่ง หญิงสหายของนางวิสาขามหาอุบาสิกา แอบพกขวดเหล้าเข้าไปดื่มในวัด พอเมาได้ที่(มารเข้าสิง) ก็เริ่มปรบมือ ฟ้อนรำขับร้องกัน พระศาสดาจึงบันดาลให้เกิดความมืดขึ้น พวกนางตกใจกลัวตายจนหายเมา พระองค์ได้ตรัสสอนธรรมบทเตือนใจว่า

โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ
อนฺธกาเรน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ


เมื่อโลกลุกเป็นไฟอยู่เนืองนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืดปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีปกันเล่า

ผลจากการตรัสธรรมบทนี้ทำให้พวกนางบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ พระองค์ทรงเห็นสัจธรรมของชีวิตข้อนี้ ถึงกับทรงเปล่งอุทานธรรมว่า

อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ ฯเปฯ
 
เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์
นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
ซี่โครงทุกซี่ของท่านเราหักแล้ว
ยอดเรือนเราก็รื้อแล้ว
จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว

๑๒. อัตตวรรค
หมวดตน

ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องตน คำว่า ตน ในที่นี้ หมายถึงผู้กระทำ (สยกตฺตา) โดยทั่วไป ไม่ได้หมายถึง อัตตา หรืออาตมัน ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์ทรงสอนให้รู้จักรักษาตนด้วยการทำดี ให้รู้จักวางจังหวะของชีวิต ในทำนองที่ว่า วัยแรกเรียนวิชา วัยต่อมาสร้างหลกฐาน วัยแก่ทำบุญ จะเกิดคุณตลอดกาล ทรงสอนให้ฝึกฝนตนและทำตนให้เป็นที่พึ่ง ดังที่ตรัสว่า

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา
ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
การทำหน้าที่ต่อผู้อื่น ไม่ควรทำหน้าที่ของตนให้บกพร่อง ก่อนจะสอนคนอื่นควรพยายามสอนตนให้ได้ก่อนเพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดแก่ตน ดังที่ตรัสไว้ว่า

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม


บุคคลสอนคนอื่นอย่างไร ก็พึงทำตนเองอย่างนั้น
ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึกผู้อื่น
เพราะตนนั่นแล ฝึกได้ยากยิ่ง
บางครั้ง ทรงสอนให้ยึดประโยชน์ตนเป็นสำคัญ ดังธรรมบทที่ว่า

อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย ฯเปฯ


บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตนเสียไป
เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก
เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว
ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน
ในบทนี้ ไม่ควรเข้าใจผิดโดยคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นแก่ตัว ความจริง คำว่า ประโยชน์ตน ในที่นี้หมายถึง มรรค ผล นิพพาน เป็นเรื่องความบริสุทธิ์เฉพาะตน ซึ่งคนอื่นทำให้เราไม่ได้ ตนเองเท่านั้นที่จะทำให้แก่ตน ดังธรรมบทที่ว่า “สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย = ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”

๑๓. โลกวรรค
หมวดโลก

ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับโลก คำว่า โลก ในที่นี้มีความหมายหลายอย่าง คือ โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือแผ่นดินโลกคือภพนี้และภพหน้า โลกคือขันธ์ ๕ โลกคือชาวโลก โลกคือวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๑-๔๒) ทรงสอนให้อยู่ในโลกอย่างไม่ประมาท ไม่ควรเป็นคนรกโลก (น สิยา โลกวฑฺฒโน) ให้อยู่อย่างมีคุณธรรมจึงจะมีความสุข ดังพระดำรัสที่ว่า ธมฺมจารี สุขํ เสติ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ทรงสอนให้เห็นความเป็นจริงของโลกว่า

โลกนี้มืดมน คนในโลกนี้ น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจักไปสวรรค์
เหมือนนกติดข่าย น้อยตัวนักที่จะพ้นจากข่าย ฉะนั้น
บางบท ทรงสอนในทำนองว่า การอยู่ในโลกอาจทำผิดพลาดได้ แต่ผู้ที่ทำผิดนั้นต้องแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้วก็ทรงยกย่อง เช่น จอมโจรองคุลีมาล ซึ่งฆ่าคนตายมากกว่า ๙๙๙ คน และคิดจะฆ่ามารดาเป็นคนที่ ๑,๐๐๐ ภายหลังได้พบพระพุทธเจ้าและฟังธรรมจากพระองค์ สามารถกลับใจได้ จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ (ดูเทียบกับ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐) พระองค์ตรัสว่า

บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดละเสียได้ด้วยกุศล
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น
top