ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

หน้าหลัก
พระไตรปิฎกวิจารณ์ (A Critical Study of the Tipitฺaka)
   
  หน่วยที่ ๓ พระพุทธศาสนากับประชาธิปไตย
๑. แนวการวิจารณ์ (a critical approach)
การจะวิจารณ์หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก จะต้องมีความรู้พื้นฐาน ๔ ประเภท คือ
๑.๑ รู้บาลีพระไตรปิฎกดี (สพยญฺชนํ) เพื่อที่จะเป็นหลักในการตีความคำสอนให้ตรงกับความหมายดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า
๑.๒ รู้ความหมายพระไตรปิฎกดี (สาตฺถํ) คือ ต้องอ่านคำสอนที่ท่านแปลจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาของตน เช่น พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทย พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งคำอธิบายที่เรียกว่า อรรถกถา
๑.๓ มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ดี โดยเฉพาะในแง่ ประยุกตวิทยา (Technology) อย่างน้อยที่สุดก็สามารถจับประเด็นหลักของวิทยาการนั้นๆ ได้ว่า ด้วยเรื่องอะไร สามารถนำมาเทียบเคียงสงเคราะห์กับพุทธธรรมได้ในแง่ใดบ้าง
หน่วยการบรรยาย
ทบทวนโครงสร้างพระไตรปิฎก
ทบทวนเนื้อหาพระไตรปิฎก
หลักประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา
สังคมพุทธทัศนะ
เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ
พุทธศาสนากับปรัชญาการศึกษา
พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
ทฤษฎีวิวัฒนาการกับอัคคัญญสูตร
พุทธศาสนากับการเกิดใหม่
พุทธศาสนากับศาสนาเทวนิยม
ทบทวนสรุป
ทบทวนสรุป
หนังสืออ้างอิง

     ๑.๔ มีจิตใจเปิดกว้าง (open mind) ตามแนวกาลามสูตร ที่ว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา ฯลฯ ผู้นี้เป็นครูของเรา สามารถจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยจิตเยือกเย็น และตอบโต้ได้อย่างมั่นคง และด้วยเหตุด้วยผลจากการปฏิบัติของตนเอง
เมื่อมีความรู้พื้นฐานแล้วก็ต้องมีหลักในการวิจารณ์ดังนี้

๑. ตั้งข้อสงสัย (ปุจฉา) ว่าสิ่งนั้น คืออะไร ? มาจากไหน ? เพื่ออะไร ? และโดยวิธีใด ? ตามหลักอริยสัจ
๒. ค้นคว้าหาคำตอบตามแนว ธรรมวินัย คือ วิจัยธรรม เพราะธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้นมีคุณลักษณะหนึ่ง คือ เอหิ ปัสสิโก คือ เชิญมาดู (come and see) เชิญมาพิสูจน์ค้นคว้าทดลองปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุด คือการรวบรวมข้อมูลอันเกี่ยวกับธรรมด้านนั้นๆ ว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง มีคำอธิบายเดิมอย่างไร และจะนำมาตีความกับโลกยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างไร
๓. หาข้อสรุป หาข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น อย่าหาข้อสรุปที่มุ่งเอาแพ้เอาชนะอย่างเดียว อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอลคัททูปมสูตรว่า การศึกษาวิจารณ์นั้นมี ๓ แบบ คือ
๑) ศึกษาเพื่อข่มผู้อื่น เอาชนะผู้อื่น อย่างนี้เป็นศึกษาการวิจารณ์ที่เรียกว่า งูพิษ ทำให้เกิดการโทษแก่ตนเอง
๒) ศึกษาวิจารณ์ เพื่อหาแนวทางให้เกิดการออกไปจากทุกข์ เพื่อให้เกิดการดับทุกข์ แนวธรรมสากัจฉา ก็อาศัยแนวนี้ จึงเกิดมงคลแก่ผู้สนทนาธรรม และทำให้พ้นทุกข์ได้ เป็น นิสสรณปริยัติ.
๓) ศึกษาวิจารณ์ เพื่อเป็นตัวอย่างผู้อื่น เพื่อให้เกิดแนวคิดกระตุ้นแรงเร้าในการปฏิบัติธรรมแก่ศิษย์และรุ่นน้องๆ เรียกว่า แบบเรือนคลังภัณฑาคาริก ปริยัติ
ต่อไปนี้จะได้ตั้งประเด็นวิจารณ์เป็นข้อๆ ไปในเรื่องที่เห็นว่า สมควรแก่การวิจารณ์
๒. หลักประชาธิปไตย
คำว่า "ประชาธิปไตย" หรือ "Democracy"เป็นคำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณรุ่งเรือง ซึ่งมุ่งแสดงถึงการปกครองที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออก มีส่วนร่วมในการปกครองโดยเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ ผู้ให้คำนิยามแก่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่กระชับและสั้น คือ ลิงคอล์น ที่ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน
หลักของประชาธิปไตย คือให้อำนาจแก่ประชาชน ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และด้านพิจารณาอรรถคดี ที่เรียกว่า ตุลาการ อย่างไรก็ดี มีผู้กล่าวถึงหลักของประชาธิปไตยว่า มี ๕ หลักด้วยกันคือ
๑.) หลักเสรีภาพ (Liberty) ซึ่งต้องประกอบด้วย สิทธิ หน้าที่ อิสรภาพ และสมภาพ จะต้องอยู่ร่วมกัน
๒.) หลักความเสมอภาค (Equality) คือความเท่าเทียมกัน ในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ
๓.) หลักเหตุผล (Rationality) การตัดสินความขัดแย้งด้วยเหตุผล
๔.) การตัดสินโดยเสียงข้างมาก (Majority) เสียงข้างน้อย ได้รับการคุ้มครอง (Majority rule, and minority right)
๕.) การผลัดเปลี่ยนกันหมุนเวียนดำรงตำแหน่ง (Rotation) ไม่ผูกขาดแต่คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพียงผู้เดียว.
๓. แนวความคิดประชาธิปไตยในพระไตรปิฎก
๓.๑ แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแนวพระวินัยปิฎก
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป จึงกล่าวได้ว่า
พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย
อธิกรณ์สงฆ์ทั้ง ๔ คือ
ก. วิวาทาธิกรณ์-การขัดแย้งกันเกี่ยวกับธรรมวินัย
ข. อนุวาทาธิกรณ์-การโจทก์กันด้วยอาบัติต่างๆ
ค. อาปัตตาธิกรณ์-การละเมิดอาบัติต่างๆ
ง. กิจจาธิกรณ์-กิจของสงฆ์ที่เกิดขึ้นที่จะพึงทำด้วยสงฆ์จำนวนต่างๆ
ต่างก็จะต้องระงับด้วยวิธีการที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ ๗ คือ
๑. สัมมุขาวินัย ระงับต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าบุคคลต่อหน้าวัตถุ
๒. สติวินัย การระงับด้วยการให้เกียรติแก่พระอรหันต์ ผู้มีสติสมบูรณ์
๓. อมูฬหกวินัย การระงับเหตุด้วยการยกเว้นให้แก่ผู้ทำผิดในขณะที่เป็นบ้า คือได้หลงไปแล้ว
๔. เยภุยยสิกา ระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ
๕. ปฏิญญาตกรณะ ระงับด้วยการทำตามปฏิญญา
๖. ตัสสปาปิยสิกากรรม ระงับด้วยการลงโทษศัตรูผู้ถูกสอบสวนแล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การรับแล้วปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วรับเป็นต้น
๗. ติณวัตถารกวินัย ระงับด้วยการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ดุจเอาหญ้าทับสิ่งสกปรกไว้ไม่ให้มีกลิ่น
ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม
และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า
"ยสฺสายสฺมโตขมติ...
.........โส ตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย"
"ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า
"ยทิ สงฺฆสฺสปตฺตกลฺลํ"
ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้.
นี้คือเนื้อความใน มหาขันธกะ มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๔
๓.๒ แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตย ตามแนวพระสุตตันตปิฎก ซึ่งอาจนำมาเป็นประเด็นในการวิจารณ์ ได้ดังต่อไปนี้
๑) หลักเสรีภาพทางความคิด พระพุทธเจ้าได้ให้โอกาสแก่ชาวกาลามะในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ คำสอนของนักบวช ที่มาเผยแผ่คำสอนด้วยข้อความต่อไปนี้
"ดูกรกาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเชื่อ เพียงเพราะ
๑. การฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
๒. การถือกันสืบๆ มา (มา ปรมฺปราย)
๓. ข่าวเล่าลือ (มา อิติกิราย)
๔. การอ้างตำรา (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
๕. การใช้ตรรกะ (มา ตกฺกเหตุ)
๖. การอนุมาน (มา นยเหตุ)
๗. การตรึกตรองตามอาการ (มา อาการปริวิตกฺเกน)
๘. เข้าได้กับทฤษฎีที่ตนคิดไว้ (มา ทิฏฺฐินิชฺฌานขนฺติยา)
๙. มองเห็นลักษณะว่าน่าเชื่อได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
๑๐. สมณะ นี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
ต่อเมื่อใดรู้เข้าใจ ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละ หรือ ถือปฏิบัติตามนั้น" (อํ.ติก.๒๐/๕๐๕/๒๔๑)

๒.) หลักความเสมอภาค ในพระธรรมวินัย จะเห็นได้จากหลักความอัศจรรย์ของพระธรรมวินัย ๘ อย่าง
เปรียบเทียบกับความอัศจรรย์ของมหาสมุทร ๘ อย่าง ดังนี้
(๑) ธรรมวินัย หรือพระพุทธศาสนามีการศึกษาตามลำดับทำตามลำดับปฏิบัติตามลำดับ แทงตลอดอรหัตตมรรค ด้วยการทำต่อเนื่องดุจมหาสมุทรลุ่มลึกตามลำดับ
(๒) สาวกของพระพุทธเจ้าที่แท้ไม่ล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว แม้จะต้องสละชีวิตก็ยอม ดุจมหาสมุทรไม่ล้นฝั่ง
(๓) สงฆ์ ย่อมกันคนชั่วให้ห่างไกล ดุจทะเลซัดซากศพให้เข้าสู่ฝั่งฉะนั้น
(๔) วรรณะ ๔ ออกบวชแล้วย่อมละซึ่งชื่อโคตร ในกาลก่อนถึงการนับว่าเป็นสมณศากยบุตร ดุจน้ำจากแม่น้ำทั้งหลาย เมื่อถึงมหาสมุทรแล้ว ก็เป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกัน
(๕) แม้ฝนตก มหาสมุทรก็ไม่ปรากฏความพร่องและความเต็ม ฉันใด ภิกษุในธรรมวินัย ที่ดับกิเลสด้วยนิพพานธาตุ ย่อมไม่ทำนิพพานให้เต็ม
(๖) พระธรรมวินัย มีรสเดียว คือ วิมุตติรส-รสแห่งความหลุดพ้น ดุจมหาสมุทรมีรสเดียวคือ รสเค็ม (เอกรโส-โลณรโส, เอกรโส-วิมุตฺติรโส)
(๗) มหาสมุทรเต็มไปด้วยรัตนะนานาประการ ฉันใด พระธรรมวินัยก็มากด้วย ธรรมรัตนะ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, มรรค ๘, ฉันนั้น
(๘) มหาสมุทร เป็นที่อยู่ของสัตว์มีชีวิตใหญ่ๆ เช่น ปลาติมิติมังคลา ติปริมังคลา อสูร นาค คนธรรพ์ ฉันใด พระธรรมวินัยก็มีอริยบุคคล ๔ และผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นอริยบุคคล ๔ ฉันนั้น.
เหตุนี้ จึงทำให้ภิกษุยินดียิ่งในธรรมวินัย.(อํ อฏฺฐก. ๒๓/๑๐๙/๒๐๐๗)

๓) หลักความเป็นพี่เป็นน้องกัน หรือ ภราดรภาพ คือ สหธรรมิก ผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ควรมีธรรมต่อไปนี้
ก. สังคหวัตถุ ๔ คือ แบ่งปัน, พุดไพเราะ, บำเพ็ญประโยชน์และวางตัวเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมสุขร่วมทุกข์ (อํ. จตุกฺก. ๒๑/๓๒/๔๒)
ข. สาราณียธรรม ๖ คือจะพูด จะทำ จะคิด ก็ประกอบด้วย เมตตาจิต แบ่งปันลาภกันอย่างทั่วถึง, มีศีลเสมอกันและมีทัศนะเสมอกัน. (อํ. ฉกฺก. ๒๒/๒๘๒/๓๒๑)
ค. หลักอปริหานิยธรรม ๗ คือ
- หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
- เมื่อประชุมก็พร้อมกันเข้าประชุม และพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม
- ไม่ทำลายหลักการเดิม
- เคารพผู้หลักผู้ใหญ่
- คุ้มครองกุลสตรี มิให้ถูกข่มเหง
- เคารพ เจดีย์ อนุสาวรีย์คนสำคัญของชาติ
- ให้การคุ้มครองอารักขาสมณะชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในรัฐ(อํ. สตฺตก. ๒๓/๒๐/๑๘)

๔) หลักการใช้อธิปไตย พระพุทธเจ้าทรงนิยม ธรรมาธิปไตย คือ เอาหลักการเป็นใหญ่ มิใช่ อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ หรือ โลกาธิปไตย เอาโลกหรือพวกพ้องเป็นใหญ่ ดังพระองค์แสดงไว้อย่างชัดเจน
"ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ
ที่นั้นมิใช่สภา"
สัตบุรุษ คือ ผู้รู้จักเหตุผล-รู้จักคน รู้จักประมาณ-รู้จักกาล-รู้จักชุมชุม และรู้จักความสัมพันธ์ระหว่าบุคคล จึงอาจกล่าวได้ว่า
"พระธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้าเป็นหลักการปกครองของพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์ และเพื่อพระสงฆ์อันมีประโยชน์ ๑๐ อย่าง เป็นเป้าหมาย คือ
๑. เพื่อหมู่คณะยอมรับว่าดี
๒. เพื่อให้หมู่คณะมีความผาสุก
๓. เพื่อข่มคนชั่ว
๔. เพื่อปกป้องคนดี
๕. เพื่อขจัดทุกข์ในปัจจุบัน
๖. เพื่อตัดทุกข์ในอนาคต
๗. เพื่อผู้ที่ยังไม่ศรัทธาได้มีความศรัทธา
๘. เพื่อรักษาจิตของคนที่ศรัทธาอยู่แล้ว ให้เลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม คือ พระพุทธศาสนา
๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย คือ หลักการอันดีงาม ของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ อย่างที่เรียกว่า "มีสันติสุขในส่วนตน และสันติภาพในส่วนรวม" ฉะนี้แล

top